สายพันธุ์กล้วยไม้



เอื้องกุหลาบแดง Aerides crassifolia

     เมื่อเรามาลองเอ่ยถึงคำว่า กุหลาบแดง หลาย ๆ คนคงนึกโยงไปถึงกุหลาบสีแดงที่เป็นเครื่องหมายแห่งของวันความรักในวันวาเลนไทน์ ผิดแล้วครับ วันนี้เราจะมาเอ่ยถึงกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า กุหลาบแดง กัน
     Aerides crassifolia เป็นชื่อวิทยาศาสตร์สกุลกุหลาบของกล้วยไม้ชนิดนึ้ เรารู้จักกันในนาม เอื้องกุหลาบแดง หรือเรียกกันห้วนๆว่า กุหลาบแดง กล้วยไม้ชนิดนี้เติบโตและกระจายสายพันธุ์เกือบทุกภาคพื้นที่ของป่าในประเทศไทยเรา เอื้องกุหลาบแดง มักขึ้นตามคาคบไม้สูง แต่บางครั้งเราก็พบว่ามันชอบเติบโตบนกิ่งก้านต้นไม้ที่ต่ำเพียงมือเอื้อมถึงเช่นกัน
     ด้วยสีสันที่แดงจัดจ้านสมชื่อของมัน เอื้องกุหลาบแดง จึงเป็นกล้วยไม้สกุลกุหลาบอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของนักนิยมกล้วยไม้มากมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ด้วยลักษณะทรงช่อที่ตีห่างไม่สมส่วนกับจำนวนดอกบนก้านช่อ เอื้องกุหลาบแดง จึงไม่เป็นที่นิยมในด้านการพัฒนาสายพันธุ์
     ลักษณะพิเศษประจำสกุลของ เอื้องกุหลาบแดง คือ มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ลำต้นเตี้ยล่ำ ใบใหญ่สั้นหนาสีเขียวปนแดง สีแดงจะเข้มขึ้นในช่วงแห้งแล้ง ใบกว้างราว 1.5-2.0 เซนติเมตร ยาวราว 10-18 เซนติเมตร ผิวใบอาจย่นตามขวางของใบ ใบเรียงสลับระนาบเดียว ลำต้นเจริญทางปลายยอด ช่อดอกโค้งลงยาวใกล้เคียงกับใบ มีดอกช่อละ 10-20 ดอก ขนาดดอกกว้าง 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีชมพู-ม่วงแดง ส่วนปากดอกสีเข้ม กลีบในบิดไปด้านหลัง ดอกมีกลิ่นหอม บานช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ลักษณะเด่น คือกลีบดอกนอกคู่ล่างกว้าง ปากแบะยื่น เดือยดอกยาว เห็นชัดเจน ปลายเดือยงอนขึ้น และไม่อยู่ใต้ปลายปาก เอื้องกุหลาบแดง พบตามธรรมชาติ ในป่าแล้งภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคตะวันออกของไทย รวมทั้งจังหวัดนครนายกและกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบในประเทศ พม่า ลาว และเวียดนาม

ภาพ เอื้องกุหลาบแดง
     เอื้องกุหลาบแดง เป็นกล้วยไม้สกุลกุหลาบที่มีดอกขนาดใหญ่กว่ากล้วยไม้กุหลาบชนิดอื่นๆ ชาวยุโรปนิยมชมชอบ เอื้องกุหลาบแดง มากเป็นพิเศษ จนให้สมญานามว่า "ราชาแห่งสกุลกุหลาบ" แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็ยังปลูกได้ เจริญเติบโตดีมาก เอื้องกุหลาบแดง สามารถผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนด้า และสกุลช้างได้อีกด้วย

วิธีปลูกเลี้ยง เอื้องกุหลาบแดง
- เมื่อเราได้รับต้นของ เอื้องกุหลาบแดง มาแล้วเราสามารถปลูกลงในกระเช้าแขวน หรือ นำแปะติดขอนไม้ก็ได้ครับ โดยจับลำของ เอื้องกุหลาบแดง แขวนไว้ในที่ร่มรำไรรดน้ำเช้าหรือเย็นเพียงเวลาเดียว ในช่วงที่รากยังไม่แตกดีให้เรานำ บี1 มาผสมกับน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและฉีดพ่นสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เอื้องกุหลาบแดง จะแตกรากง่ายขึ้นครับ
- เมื่อ เอื้องกุหลาบแดง เริ่มตั้งตัวได้ดีแล้ว สังเกตุจากมีรากพันรอบกระเช้าหรือรากพันแน่นบนขอนไม้ที่เราปลูก ให้เราลองค่อย ๆ ขยับ เอื้องกุหลาบแดง ของเราออกมาให้ได้รับแสงบ้าง โดยให้ได้รับแสงในช่วงเช้าตรู่ราว ๆ 6 โมง - 9 โมง เช้า หรือ ให้ได้รับแสงเย็นช่วง 4 - 6 โมงเย็น เพื่อให้ เอื้องกุหลาบแดง ได้สังเคราะห์แสงและกับเก็บอาหารได้มากขึ้นเพื่อใช้ในการผลิดอกครั้งต่อไป
- เอื้องกุหลาบแดง ที่ได้รับแสงเหมาะสมจะให้ดอกตรงฤดูกาลทุกปี หาก เอื้องกุหลาบแดง ของคุณไม่ยอมให้ดอกให้ลองพิจารณาว่าบริเวณที่เราแขวน เอื้องกุหลาบแดง ไว้นั้นได้รับแสงเพียงพอหรือไม่ดูครับ
- การให้ปุ๋ย จะให้ปุ๋ยทุกสัปดาห์โดยใช้สูตรปุ๋ยเสมอ 21-21-21 เป็นหลักครับ หากหมั่นให้ปุ๋ยทุกสัปดาห์แล้ว เอื้องกุหลาบแดง จะแตกกอให้ใบและดอกย้อยเป็นพวงสวยงามเลยทีเดียวครับ
- การให้น้ำ เอื้องกุหลาบแดง เรามักให้เพียงเวลาเดียวคือช่วงเช้าตรู่ หรือ ช่วงเย็นจัด เท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงรดน้ำช่วงเวลา หลัง 8 โมงเช้า เพราะน้ำที่รด จะไปขังอยู่ในกาบใบของกล้วยไม้เราและเมื่อเจอกับแดดร้อน ๆ ในบ้านเราเข้าไป น้ำที่ขังจะเริ่มอุ่นและทำให้ใบของ เอื้องกุหลาบแดง หรือกล้วยไม้ที่เราเลี้ยงใบช้ำเหลืองและเน่าเสียได้ครับ

กุหลาบเหลืองโคราช ( Aerides houlletiana )

กุหลาบเหลืองโคราช ( Aerides houlletiana )
      กุหลาบเหลืองโคราช หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า เหลืองโคราช เป็นกล้วยไม้สกุลกุหลาบ Aerides ที่มีลำต้นเจริญเติบโตทางยอด ต้นของ เหลืองโคราช มักตั้งตรงหรือเอนห้อยลงซึ่งแล้วแต่ปัจจัย สภาพแวดล้อมที่ขึ้นอยู่บริเวณนั้น ๆ ในสภาพโรงเรือนเราสามารถ เลี้ยง เหลืองโคราช ให้มีลำต้นตรงสวยได้ด้วยการดัดทรง แต่ใน ธรรมชาติแล้ว เราจะพบว่าลำต้นของ เหลืองโคราช ที่โตเต็มที่จะมี ลักษณะโค้งงอไม่ตรงสวยเนื่องจากเป็นไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก นั่นเองครับ
     ใบของ เหลืองโคราช มีลักษณะแข็ง สีเขียวสดเรียงตัวกันคล้าย ก้างปลา เว้นระยะห่างกันเพียงเล็กน้อย ปลายใบจะมีรอยเว้าอยู่ สองแฉก หากได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เหลืองโคราช สามารถ ให้ใบได้ตลอดลำต้นโดยไม่ทิ้งใบเลยทีเดียว
     ดอกมีลักษณะเป็นช่อห้อยลง สั้น-ยาว แล้วแต่ลักษณะ
ของแต่ละต้นมีพื้นกลีบสีเหลืองซีดไล่ไปจนถึงสีเหลืองสดเข้ม ปลายดอกมีสีม่วงแต้มอยู่ ในธรรมชาติบางครั้งเราอาจพบกับ เหลืองโคราช ที่มีสีขาวล้วน ซึ่งเป็นลักษณะที่หาได้ยากยิ่งและไม่ค่อยพบ เห็นได้บ่อยครั้ง เหลืองโคราช สีขาวนี้เรียกว่า เหลืองโคราชเผือก
     กลิ่นของ เหลืองโคราช นั้นแตกต่างและพิเศษกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ กลินของเค้าหอมคล้าย ๆ กับกลิ่นของต้นตะไคร้ เลย หากใครมีเจ้า เหลืองโคราช ให้ลองดมดูนะครับ
      ฤดูดอกมักให้ดอกในช่วงฤดูร้อนเข้าฝน คือ เมษายน - พฤษภาคม ดอกของ เหลืองโคราช บานได้สูงสุด ๒ สัปดาห์ และ ให้ดอกเพียงปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น *ลืมบอกไป กุหลาบเหลืองโคราชมีอีกชื่อว่า กุหลาบนางรอง ครับ



เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบัน เหลืองโคราช ได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์จากนักเลี้ยงกล้วยไม้หลากหลายถิ่นที่ให้ความสำคัญกับ กล้วยไม้ชนิดนี้ เหลืองโคราช จึงเป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่ได้รับพัฒนาจนมีสายพันธุ์ที่สวยงามโดดเด่นกว่า กล้วยไม้ป่า และ เหลืองโคราช ยังได้รับให้เป็นกล้วยไม้ที่สำคัญของถิ่นโคราชอีกด้วย ทุก ๆ ปีเราจะได้เห็นกับเทศกาล เหลืองโคราช บาน ภายใต้ชื่อ Orchid & Jazz Korat ภายในงานจะมีเหลืองโคราชพัฒนาสายพันธุ์จากหลากหลายแหล่งมารวมตัวกันน่าตื่น ตาตื่นใจ หากใครมีโอกาสก็อย่าพลาดชมเชียวละครับ ! การปลูกเลี้ยง กุหลาบ เหลืองโคราช

กรณีเป็นไม้ออกขวด - ภายหลังออกขวด ผมมักจะผึ่งไว้ในตะกร้าก่อนเสมอเพื่อให้ลูกไม้ปรับตัว และได้ลมเย็น ๆ พัดไปพัดมาให้ชื่นใจสักหน่อย แต่ถ้าขี้เกียจหน่อยผมก็จะปล่อยไว้แบบนี้ตลอดเวลา ๒-๓ เดือนรอจนกระทั่งรากใหม่แตกออกมาแล้วถึงหนีบนิ้วครับ แต่ถ้า ขี้เกียจมาก ๆ หน่อย ก็รอโตเลย แล้วจับลงกระเช้า ๔ นิ้วเลยครับ คงจะสงสัยว่าทิ้งนาน ๆ รากไม่พันตะกร้าเหรอ หากอ่าน บทความการออกขวดกล้วยไม้แล้วคงเข้าใจทันที เนื่องจากผมใช้โฟมรองก้นตะกร้าแล้วเอาลูกไม้ทับ ดังนั้นเมื่อรากใหม่ แตกออกมาก็จะพันโฟมครับ แกะง่ายกว่าพันตะกร้าเยอะเลย !

กรณีไม้ที่ได้มาเป็นต้นโตแล้ว
- ให้นำเหลืองโคราช ที่ท่านได้มา แช่ยากันราก่อนสัก 30 นาที แล้วค่อยนำไปปลูก การปลูกมีดังนี้
๏ หากติดขอนไม้ ให้จับ เหลืองโคราช ของท่านมัดแน่น ๆ กับขอนไม้ครับ แค่นี้แหละ ง่ายไหมเอ่ย ?
๏ หากลงกระเช้า ให้ค่อย ๆ บรรจงร้อยรากทั้งหมด ลงในกระเช้า หากมีรากแห้งติดก็จงตัดรากแห้ง ๆ ทิ้งเสียครับ เหลือคงไว้ แต่รากดี ๆ ก็พอครับ หลังจากนี้ห้อยไว้ที่ที่ร่มรำไร ไม่ทึบไป ไม่กลางแจ้งเกินไป มีลมโกรกสบาย ๆ รดน้ำเช้า หรือเย็นแค่ เวลาเดียว รากแตกใหม่ค่อยย้ายออกที่ที่มีแสงมากขึ้น เท่านี้ เหลืองโคราช ก็จะสวยแล้วครับ

เหลืองโคราช ไม่ออกดอก ทำไงดี ?
- กรณีไม่มีดอกนั้น มี ๒ ข้อ คือ
๑. ลูกไม้เล็กอยู่ และไม่พร้อมให้ดอก หรือ ท่านได้กล้วยไม้มาจากป่า ปีแรกจะให้ดอก ปีถัด ๆ ไปจะงดดอกเพราะต้องปรับ ตัวก่อนนะครับ
๒. ท่านปลูกกล้วยไม้ไว้ในที่ที่ร่มเกินไป ต้องให้กล้วยไม้ได้รับแสงมาก ๆ หน่อยครับ กล้วยไม้เห็นว่าใบอวบน้ำแต่จริง ๆ แล้ว เป็นพืชที่ชอบแสงมาก ๆ เลยละครับ ลองดูนะครับ หากพบปัญหาปรึกษาได้ที่เว็บบอร์ดคร้าบบ

เอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด (Aerides odorata)



กุหลาบกระเป๋าปิด เป็นกล้วยไม้ในกลุ่มสกุล กุหลาบ (Aerides) ที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทย แต่ลักษณะของดอกแต่ละพื้นที่ที่พบกลับแตกต่างกัน ในทางเหนือ กุหลาบกระเป๋าปิด จะ มีลักษณะของลำต้นที่ตั้งตรง ใบหนาและลักษณะของกลีบดอกจะใหญ่กลม ก้านส่งช่อแข็งดอกจึงมีลักษณะโค้งเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ของภาคอื่น ๆ กุหลาบกระเป๋าปิด จะมีลักษณะของลำต้นที่บิด ใบยาวเรียวก้านช่อส่งจะอ่อนกว่าช่อดอกจึง อ่อนโค้งลง ชื่อของ กุหลาบกระเป๋าปิด นั้นได้มาเนื่องจาก ส่วนของปากดอกจะมีลักษณะปิดพับเส้าเกสรไว้นั่นเองครับ หากเป็นกุหลาบตัวอื่น ๆ ปากดอกจะเปิดออก เช่น กุหลาบเหลืองโคราช และ กุหลาบกระเป๋าเปิด เป็นต้น

ฤดูกาลให้ดอก กุหลาบกระเป๋าปิด จะให้ดอกราว ๆ ช่วงเดือน เมษายน - พฤษภาคม ดอกของ กุหลาบกระเป๋าปิด มีกลิ่นหอมหวานมาก ๆ สีสันของดอก กุหลาบกระเป๋าปิด พบเห็นได้ตั้งแต่สีขาว ไล่ไปจนถึง สีชมพู อ่อน ๆ และเข้ม บางครั้งเราก็พบว่าบางต้นให้ดอกลายจุดแต้มสีชมพูอีกด้วย ดอกของ กุหลาบกระเป๋าปิด บานได้นานถึง 1 - 2 สัปดาห์ครับ ถึงแม้จะเป็นกล้วยไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ กุหลาบกระเป๋าปิด ก็ยังเป็นเอื้องกุหลาบของไทยอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ หากได้ลองเลี้ยงดูแล้วละก็ ผมว่าต้องหลงรัก เค้าอย่างแน่นอนเชียวครับ



การปลูกเลี้ยง กุหลาบกระเป๋าปิด
กุหลาบกระเป๋าปิด เป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่เลี้ยงง่ายครับ ชอบอากาศร้อน เลี้ยงบนพื้นราบได้ แต่จะเลี้ยงให้งามได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความขยันของผู้เลี้ยงเองครับ เรามาดูขั้นตอนการปลูกเลี้ยงเริ่มต้นกันเลย อ่านตามกันมาเลยครับ

1. เมื่อได้ กุหลาบกระเป๋าปิด มาแล้ว หากเป็นต้นที่โตแล้ว ให้เราตัดรากที่แห้งออกเสียก่อน เสร็จแล้วก็ค่อยนำไปปลูกติดขอนไม้ หรือ ขึ้นกระเช้า ก็แล้วแต่ครับ

2. หากเป็นลูกไม้/ไม้นิ้ว ให้นำลูกไม้ กุหลาบกระเป๋าปิด ขึ้นกระเช้า จะดีกว่าครับ พอโตขึ้นเราจะได้ทรงต้นสวย ๆ แล้วยังสามารถยกไปโชว์เวลามีดอกได้ด้วยครับ หรือ จะนำไปติดต้นไม้เลยก็ได้ แต่ระวังหอยทากด้วยนะครับ

3. หากเป็นกล้วยไม้ออกขวด ให้นำลูกไม้ กุหลาบกระเป๋าปิด ผึ่งในตะกร้าก่อน เลี้ยงในตะกร้าจนกว่าจะมีรากใหม่มา แล้วค่อยนำไปปลูกในกระถางนิ้วต่อครับ

เมื่อ กุหลาบกระเป๋าปิด ไม่ยอมให้ดอก ให้สังเกตุดังนี้
1. คุณอาจเลี้ยง กุหลาบกระเป๋าปิด ในที่ร่มเกินไป ให้ลองย้ายไปยังที่มีแสงสว่างเพิ่มขึ้น
2. ลูกไม้ยังเด็กเกินไป ขุนต่ออีกหน่อย
3. หากเป็นไม้ป่าอาจจะชะงักการให้ดอกสักระยะ ต้องรอปรับตัวสักพักครับ
4. ลองขยันให้ปุ๋ยทางใบบ้าง กุหลาบกระเป๋าปิด จะให้ดอกดกขึ้นครับ

*ในฤดูฝน ให้พึงระวัง หอยทาก ให้ดีครับ หอยทากจะชอบกินรากอ่อนของ กุหลาบกระเป๋าปิด และกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ มาก ให้เอาปูนขาวโรยป้องกันไว้นะครับ 

เข็มแสด ( Ascocentrum miniatum )

เข็มแสด ( Ascocentrum miniatum )
     เอื้องเข็มแสด กล้วยไม้สกุลเข็ม เป็นกล้วยไม้อีกชนิดหนึ่งที่ให้ ดอกสีจัดจ้าน และยังแทงดอกเก่งอีกด้วย
     ในกลุ่มกล้วยไม้เหล่าพันธุ์ส่วนตัวผมไม่คิดว่ามีกล้วยไม้อะไรที่ ให้ดอกเก่งและแทงช่อดอกเก่งไปมากกว่ากล้วยไม้สกุลเข็มแล้ว ละ ครับ อย่าเจ้า เข็มแสด เป็นต้น เข็มแสดเป็นกล้วยไม้ทนร้อน มาก ๆ ตามชื่อของเค้า กล้วยไม้นี้มีดอกเป็นสีแสดแสบทรวงมาก สีของมัน พอตกกลางวันจะสะท้อนแสงแดดได้เจ็บแสบมากที เดียว ด้วยรวงดอกที่ให้ดอกจนถี่ยิบ หากอยู่ไกล ๆ คุณจะเห็นสี ของ เข็มแสด เด่นสะดุดตามาก่อนใครเลยก็ว่าได้
     เข็มแสด เป็นกล้วยไม้ที่มีในบ้านเรา ด้วยลักษณะที่ทนร้อนแบบ พิเศษสุด ๆ มันจึงเป็นกล้วยไม้ที่สามารถเลี้ยงในบ้านเราได้ ทุกภูมิท้องถิ่น ไม่ว่าจะกิ่งอำเภอไหนสภาพแวดล้อมโหดร้ายเพียง ได เข็มแสด ก็ไม่สะทกสะท้าน ขอแค่มีคนคอยรดน้ำให้ทุกวัน ๆ เจ้าเข็มแสดก็จะผลิช่อดอกบานให้ชมกันทุกปีครับ
ลักษณะทั่วไป เข็มแสด มีใบเรียวยาว ทรงห่อ ค่อนข้างแข็งหนา เจริญเติบโตทางยอด เป็นกล้วยไม้ชอบแสงมาก ให้ ดอกในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ดอกมีขนาดเล็ก สีส้มอ่อนไปจนถึงส้มจัด บางชนิดจัดมากจนเกือบ แดงก็มี ลักษณะดอกชูก้านตั้งขึ้น มักให้ช่อดอกมากกว่า 2 ช่อเสมอด้วยเหตุนี้จึงเป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่ายให้ดอกง่าย และดก เข็มแสด จึงถูกนำไปผสมเป็นลูกผสมกับกล้วยไม้อื่น ๆ มากมาย เพื่อให้ได้ลูกที่มีสีสันสด ให้ดอกดกและแทงตาดอกเก่ง เหมือนดั่ง เข็มแสด นั่นเอง เข็มแสด พบได้ในป่าเบญพรรณ และป่าดิบแล้งในไทย ยกเว้นภาคตะวันตกที่เดียวที่ไม่พบ กล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ครับ



การปลูกเลี้ยง เข็มแสด
     เข็มแสด เป็นกล้วยไม้เลี้ยงง่ายมาก ๆ ครับ ขอแค่อย่าลืมรดน้ำยังไงก็รอด เนื่องจาก เข็มแสดเป็นกล้วยไม้ชอบแสงมาก ดังนั้น วิธีการเลี้ยง จึงต้องให้ เข็มแสด ได้ปริมาณแสงมาก ๆ ต่อวัน ต้นในภาพ ผมจับผึ่งตากแดดทั้งวัน มีร่มรำไรเพียงนิด เดียวเท่านั้นครับ มาดูวิธีดังต่อไปนี้กันนะครับ

กรณีเป็นไม้ออกขวด- หากเป็นกล้วยไม้ออกขวด ให้นำลูกไม้ผึ่งในตะกร้าก่อน หรือ จะทิ้งไว้ในตะกร้าจนโตเลยก็ได้ครับไม่ต้องหนีบนิ้ว เลี้ยงง่าย มาก ๆ หากต้องการหนีบนิ้ว ก็ให้ผึ่งเข็มแสดในตะกร้า จนกว่าจะมีรากใหม่ เครื่องหนีบเป็นโฟมก็ได้ครับ เพราะว่า เข็มแสด ไม่ชอบเครื่องปลูกแฉะ ชอบแห้ง ๆ และแสงเยอะ ๆ นะครับ ไม้นิ้วส่วนใหญ่ เลี้ยง ไม่ถึงปี ไม่ก็ 1 ปี ก็มีดอกให้ชมแล้วครับ

กรณีไม้ที่ได้มาเป็นต้นโตแล้ว
- ให้นำเข็มแสด ที่ท่านได้มา แช่ยากันราก่อนสัก 30 นาที แล้วค่อยนำไปปลูก การปลูกมีดังนี้
๏ กรณีติดขอนไม้ ให้นำ เข็มแสดมามัดกับขอนไม้ได้เลย ไม่ต้องหาอะไรมารองระหว่างขอนไม้กับ เข็มแสด ก็ได้ครับ มัดให้ แน่นที่สุดเท่าที่แน่นได้ เอาชนิดที่ว่า ไม่คลอนเลยนะครับ ถ้ามัดแน่นละก็ รากใหม่จะมาเร็วมาก หลังจากติดขอนแล้วให้ นำต้น เข็มแสด นี้ พักฟื้นในร่มรำไรเสียก่อ อย่าได้เอาไปออกแสงเลย ไม่งั้นจะสุกนะครับ หลังจากรากเดินดีแล้วจึงค่อย ๆ ขยับออกแดดครับ ย้ำว่า ค่อย ๆ นะครับ อย่าสุ่มสี่สุ่มห้า รากเดินปุ๊บ จับย้ายออกแดดเลย แบบนั้น ตายครับ

๏ กรณีปลูกลงกระเช้า ให้นำต้น เข็มแสด บรรจงวางลงกับกระถางที่หามาได้ ไม่ต้องหาอะไรเป็นเครื่องปลูก จับมัดดิบติด กระถางพลาสติก หรือ กระถางไม้ได้เลย รดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 3-4 อาทิตย์ เข็มแสด จะแทงรางใหม่ รอให้แตกรากดี ก่อน แล้วค่อย ค่อย ๆ ย้าย ออกบริเวณที่มีแสงมาก หากกลัวว่า เข็มแสด จะแห้งไป ก็หาสเฟกนั่มมอสไม่ก็มะพร้าวมาทับ รากสักหน่อยก็ได้ครับ

เข็มแสด ไม่ออกดอก ทำไงดี ?
- ถ้าเจอปัญหานี้ละก็ให้หาที่เลี้ยงดังต่อไปนี้
1. เลี้ยงร่ม ๆ
2. เลี้ยงใต้ชายคาโรงรถ
ทั้ง 2 ข้อที่ว่ามา อย่าทำเชียวครับ เพราะร่มไปเนี่ยแหละ เข็มแสด จึงไม่ยอมให้ดอกครับ ขอเน้นอีกครั้งว่า เข็มแสด เป็น กล้วยไม้ ชอบแดด มาก !! 

เอื้องอั่วพวงมณี คาลันเท Calanthe

     คาลันเท , เอื้องอั่วพวงมณี (Calanthe) คาลันเท เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของเรานี่เองครับ บางท่านเรียกกล้วยไม้ชนิดนี้ว่า เอื้องน้ำเต้า เนื่องจาก หัวของเจ้า คาลันเท ดันไปมีรูปร่างคล้ายน้ำต้นนี่เอง จึงกลายเป็นที่มาของชื่อที่หลายคนชอบเรียกกัน
     คาลันเท พบได้ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ในประเทศไทย ของเราตั้งแต่เหนือจรดใต้เลยครับ มันมีเขตกระจาย พันธุ์ในทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราจะพบคาลันเทได้แทบทุกภาคในบ้านเรา

ลักษณะโดยทั่วไป คาลันเทจะมีหัวโผล่ออก มาจากดินให้เราเห็นเป็นจุกเหมือนกับหัวน้ำต้น หัว ของคาลันเทจะทำหน้าที่เก็บ อาหารเช่นเดียวกับพืชที่มี หัวใต้ดินทั่วไป แต่คาลันเทบางชนิดก็ไม่มีหัวครับ
     ดินที่คาลันเทโปรดปรานจะเป็นดินร่วนปนใบไม้ผุ การปลูกเรามักเลียนแบบธรรมชาติโดยผสม มะพร้าว สับลงไปกับดินมาก ๆ เอาแบบว่าเทน้ำลงไปแล้ว น้ำ ไหลออกก้นกระถางได้ทันทีจะดีที่สุด



หากคุณปลูก คาลันเท โดยใช้ดินทั้งหมด ดินจะกักเก็บน้ำเป็นจำนวนมากทำให้การละบายน้ำเป็นไปด้วยช้า น้ำอาจ จะขังอยู่ในกระถางอยู่นาน ซึ่งเป็นผลทำให้หัวของ คาลันเท เน่าได้นั่นเองครับ ดังนั้น เทคนิคการปลูกคาลันเท เราจำ เป็นต้องหาวัสดุปลูกอื่นผสมลงไปด้วย หากคุณเลือกใช้กาบมะพร้าวปลูกคุณควรแช่กาบมะพร้าวสับที่ได้มานั้นลง ในน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 2-3 คืน เพื่อให้ยางมะพร้าวเจือจางลง และทำให้กาบมะพร้าวกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น หาก คุณไม่แช่กาบมะพร้าว ยางของมะพร้าวจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การเจริญเติบโตของ คาลันเท หยุดชงักลง !

TIP หากเป็นไปได้ ลองหาใบก้ามปูผสมลงไปกับเครื่องปลูก ไม่ต้องใส่มากครับ เมื่อเวลาผ่านไป ใบก้ามปูจะกลาย เป็นสารอาหารอันยอดเยี่ยมให้กับคาลันเท เนื่องจากคาลันเทชอบดินที่มีฮิวมัส*สูงนั่นเองครับ

**ฮิวมัส คือ อินทรีย์วัตถุที่ถูกเปลี่ยนรูปร่างให้มี ขนาดเล็กอย่างสมบูรณ์แบบ โดย จุลินทรีย์และสารเคมี มีโครงสร้าง สลับซับซ้อนคงทนต่อการสลายตัว รูปร่างไม่แน่นอน มีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลดำ มีองค์ประกอบทางเคมี คือ คาร์บอน ไฮโตรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส กำมะถัน และธาตุอื่น ๆ

สำหรับเรื่องของแสง คาลันเท ไม่ชอบพื้นที่ที่มีแสงสว่างจัด ควรหลีกเลี่ยงอย่าวางกระถางคาลันเทในบริเวณที่มีแดด ลงตรง ๆ พื้นที่ที่เหมาะสมคือสภาพแสงรำไรครับ

การขยายพันธุ์ สามารถทำได้ 3 วิธีดังนี้
1. การหักจุกที่หัว ลองดูภาพด้านบนประกอบนะครับ ตรงลูกศรสีส้มในภาพ หากหักจุกตรงนั้นไปชำ เราจะได้ คาลันเท ต้นใหม่ง่าย ๆ เลย หรือ จะแยกหัวก็ได้ครับ
2. การเพาะเมล็ด คาลันเทถือฝักเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น เมื่อฝักของคาลันเทแตกออก ลองเคาะเมล็ดแก่นี้ลงบน กระถางที่เราปลูกคาลันเท พอระยะเวลาผ่านไป เมล็ดเหล่านี้จะงอกเป็นคาลันเทต้นใหม่ ได้เองครับ แต่ว่าจะงอก เพียง 2-3 ต้นเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่าสภาพโรงเรือนของคุณจะเหมาะสมกับคาลันเทจริง ๆ ถึงจะยอมงอกออกมาหลาย ต้นให้ชมเชย (มีหน้า 2 ต่อนะครับ กด ปุ่ม NEXT ด้านล่างขวามือ) 

สิงโตพัดแดง สิงโตพัดโบก ( Cirrhopetalum curtisii)



สิงโตพัดแดง Cirrhopetalum curtisii (เซอ โร เพีท ทา ลั่ม เคอ ทิส ซิไอ) เป็นกล้วยไม้ที่ได้ถูกศึกษาจำแนก และตั้งชื่อโดย นายโจเซฟ ฮุกเคอร์ ตีพิมพ์ลงในวารสารทางพฤกษศาสตร์ ชื่อ โบทานิคั่ล แมกกาซีน ในปี พ.ศ. ๒๔๔o โดย อ้างอิงจากแบบต้นตัวอย่างที่เก็บได้จากทางภาคใต้ของประเทศไทย เขาได้ตังชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ นาย ชาร์ล เคอทิส ซึ่งเป็นนักสะสมพันธุ์ไม้จากสวน แมสวิทช์ และบุตร ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๒๗-๒๔๔๖ นายชาร์ล เคอทิส ได้ทำงานเป็นผู้ดูแลสวนพฤกษศาสตร์ แห่งปีนัง และเป็นคนเก็บกล้วยไม้ สิงโตชนิดนี้ ให้กับสวนพรรณไม้ วิชช์ เนสเซอรี่ นั่นเอง
     และหลังจากนั้น อีก ๒o ให้หลัง นาย โจฮานซ์ สมิทช์ได้ศึกษาจำแนกกล้วยไม้ต้นเดียวกันนี้ซึ่งได้จากเกาะบอร์เนียว และได้ตั้งเป็นอีกชื่อหนึ่งในนาม Bulbophyllum corolliferum ในครั้งนั้นได้ตีพิมพ์ลงใน วารสารพฤกษศาสตร์ ชื่อ Bulletin de Jardin Botanique De Buitenzorg ในปี พ ศ. ๒๔๖o
     ต่อมา นางเลสลี่ การ์เล่ ได้สรุปและยอมรับกล้วยไม้ สิงโตพัดแดง ชนิดที่มีดอกสีเหลืองครีมอ่อน ซึ่งค้นพบจากประเทศไทย ให้เป็นชนิดสายพันธ์ย่อย ชื่อ ลูเทสเซ้น (var. lutescens) ของ สิงโตพัดแดง และตีพิมพ์ลงในวารสารทางพฤกษศาสตร์ ชื่อ ฮาร์วาร์ต เปเปอ อิน โบทานี ในปี พ .ศ.๒๕๔๒ โดยชื่อสายพันธุ์ย่อย นี้ มาจากรากศัพท์ ภาษาละตินสองคำ คือ คำว่า lutes มีความหมายถึงสีเหลืองเข้ม และคำท้ายว่า escens แปลว่ากลายเป็น รวมหมายถึงลักษณะสีเหลืองครีมอ่อนของกลีบดอกนั่นเอง
เลสสลี่ การ์ เล่ , ฟริทซ์ เฮมเมอร์ และ เอมิลี่ ไซเจอริส นัก พฤกษศาสตร์ทั้งสาม ได้ร่วมกันสรุปนิยาม และลักษณะจำกัดความที่แยก กล้วยไม้สิงโตกลุ่มพัด (Cirrhopetalum) ออกจาก กล้วยไม้ สกุลสิงโตทั่วไป (Bulbophylum) เนื่องจากลักษณะของกลุ่มดอกที่แผ่ออก เป็นรูปพัด และ รูปร่างของกลีบดอกด้านนอกคู่ล่างที่เชื่อมติดกันเป็นแผ่นเดียว อันเป็นเอกลักษณ์ของกล้วยไม้สิงโตกลุ่มนี้ ซึ่งรายงานดังกล่าวได้ประกาศตีพิมพ์ลงในวารสารด้านพฤกษศาสตร์ ชื่อ นอร์ดิค เจอนัล ออฟ โบทานี่ ในปี พ. ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งในอนาคต เราก็ต่างรอคอยการศึกษาด้าน ชีวโมเลกุล เพื่อศึกษาความชัดเจนของลักษณะทางพันธุกรรม ของ กล้วยไม้ สิงโตพัด กลุ่มนี้
     ลักษณะกล้วยไม้ สิงโตพัดแดง มีลำลูกกล้วยขนาดเล็ก รูปไข่ยอดแหลม ซึ่งเกิดระหว่างไหลช่วงระยะห่าง o.๕ - ๑ ซม.ขนาดลำลูกกล้วยมีขนาดโดยเฉลี่ย สูงประมาณ ๑.๕ ซม. กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. มีใบเดี่ยวยาวรี กว้าง ๒-๓ ซม. ใบยาวประมาณ ๙- ๑๓ ซม. ก้านดอกเล็กเรียวยาว๗-๑๔ ซม. ก้านดอกสีม่วงอมแดง เกิดจากตาดอกที่โคนลำลูกกล้วย มีดอกขนาดเล็ก สีตั้งแต่ม่วงแดงอ่อนๆไปจนถึงสีเข้มจัด มีดอกในช่อจำนวน ๑๒ดอกหรืออาจมากกว่านั้น ที่กลีบปากมีสีเหลืองสด ขาดของดอกแต่ละดอกมีกลีบกว้างประมาณ ๑-๑.๕ ซม. ในสายพันธุ์ ย่อย ลูเทสเซ็นส์ (var. lutescens) กลีบดอกจะมีสีเหลืองครีมอ่อนทั้งดอก และมีกลีบปากสีเหลืองส้มเข้ม ดอกบานนาน ประมาณ ๕-๗ วัน ที่กลีบดอกล่างรูปพัด จะมี เมือกเหลวใสๆลักษณะคล้ายไข่ขาว เคลือบอยู่ทั่วผิวหน้าของกลีบ
การกระจายพันธุ์ของ สิงโตพัดแดงพบทางภาคใต้ ของไทย มาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว ของประเทศอินโดนีเซีย โดยมาก เราจะพบ กล้วยไม้ สิงโตพัดแดง ชนิดนี้ ขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้นระดับต่ำ ตามคาคบไม้

การปลูกเลี้ยง สิงโตพัดแดง : กล้วยไม้สิงโต ชนิดนี้ สามารถปลูกเลี้ยงได้ดีในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ในบริเวณที่มีความชื้นค่อนข้างสูงและอากาศถ่ายเทสะดวก ในฤดูหนาว สิงโตพัดแดง สามารถทนทานต่ออากาศหนาวได้แม้อุณภูมิ ลดต่ำลงถึง ๑๘ องศาเซลเซียส สามารถปลูกในกระถางหรือกระเช้าไม้สัก สิงโตพัดแดง ชอบวัสดุปลูกที่ไม่แฉะและระบายน้ำได้ดีพอควร และ ด้วยลักษณะของต้นที่เป็นไหลทอดเลื้อย ทำให้สามารถปลูกแขวนกับกิ่งไม้ ท่อนไม้ หรือ เปลือกไม้เนื้อแข็ง หรือ ท่อนเฟินได้ แต่หากปลูก สิงโตพัดแดง แขวนกับกิ่งไม้ท่อนไม้ควรรดน้ำหรือพ่นละอองฝอยน้ำเพิ่มเติมเพื่อความชื้น ในระหว่างช่วงที่อากาศแห้งแล้ง แต่ก็ควรให้ต้นของ สิงโตพัดแดง ได้มีโอกาสแห้งบ้างในระหว่างวัน เพราะการให้น้ำมากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาวเมื่อเกิดความชื้นสูงและอุณภูมิเปลื่ยนแปลงมากอย่างกระทันหัน อาจทำให้เกิดโรคราดำเข้าทำลายต้นและใบของ สิงโตพัดแดง ทำให้ใบหลุดร่วงเสียหายได้

เอื้องสายหลวง ( Dendrobium anosmum )

เอื้องสายหลวง ( Dendrobium anosmum )
      เอื้องสายหลวง Den. anosmum เป็นกล้วยไม้สกุลหวายอีก ชนิดหนึ่งที่มีความสวยงามโดดเด่นไปจากสกุลหวายชนิดอื่น ๆ เนื่องจาก สายหลวง เป็นหวายที่มำลำต้นเมื่อโตเต็มที่แล้วจะมี ขนาดใหญ่โต ความยาวของลำลูกกล้วยสามารถยาวได้มากกว่า 2 เมตร เมื่อถึงฤดูกาลให้ดอก สายหลวง จะให้ดอกพลั่งพลูตลอด ลำเป็นที่ตรึงตาตรึงใจของนักเลี้ยงหลาย ๆ คน และด้วยรูปร่างที่ ใหญ่มหึมาของกล้วยไม้สกุลหวายชนิดนี้นี่เอง มันจึงได้รับชื่อสม ยานามว่า สายหลวง นั่นเองครับ
     ในบรรดาเอื้องสาย สายหลวง นับเป็นเอื้องสายที่มีลักษณะของดอก หลากหลายที่อาจจะแตกต่างกันมากกว่า 10 รูปแบบ ในภาคเหนือเราอาจจะพบกับ สายหลวง ที่มีดอกกลมโต สีชมพูหวานสวยมีตากลมใหญ่เต็มปากหรืออาจจะพบกับ สายหลวง ที่มีปากบานใหญ่ กลีบดอกเล็กในแถบเขาขุนตาน

และที่ดูเหมือนจะแปลกที่สุด คงจะเป็น สายหลวง ของภาคใต้บ้านเรา มันมีลักษณะดอกที่พิลึกกึกกือ เมื่อสังเกตุที่ ผิวปากของเจ้า สายหลวง ชนิดนี้ เราจะพบว่ามันมีขนหยุบหยับเต็มไปหมด เมื่อเทียบกับ สายหลวง ปกติ ลำของมันเล็ก เรียว ไม่ต่างอะไรไปจากเอื้องสายอื่น ๆ รูปร่างของลำ ต้นเล็กเพรียว ให้ดอกเพียงกระจุ๋มกระจิ๋มเพียงเล็กน้อยพอหอมปาก หอมคอตรงบริเวณปลายลำเท่านั้น ขนาดของดอกนั้นเล็กกว่า สายหลวง ภาคเหนือ แต่ลักษณะสีสัน ยังคงชมพูหวาน คงเอกลักษณ์ของ เอื้อง สายหลวง อยู่นั่นเอง

เอาละอ่านมาถึงตรงนี้ เราไปดูลักษณะ สายหลวง ที่พบเห็นกันบ่อย ๆ กันเลยดีกว่า เลื่อนเม้าตามลงมาเลยครับ
เอื้องสายหลวงไทย
เอื้องสายหลวงไทย ลักษณะจะคล้ายคลึงกับ เอื้องสายหลวงลาว เป็นอย่างมาก แต่จะมีอีกประเภทหนึ่งที่ดูได้ง่ายคือต้นที่มีลักษณะตาดอกแดงก่ำแบบต้นในภาพ เอื้องสายหลวงไทยโดยทั่วไป จะพบว่า ลักษณะ จงอยปากของดอกกล้วยไม้นั้น จะมีลักษณะแหลมเรียวคล้ายกับช้อนที่มีปลายแหลม ในขณะที่ของลาว จงอยปากจะบานกว้างออก ลำลูกกล้วยของ เอื้องสายหลวงไทย จะมีลักษณะแข็งค่อนข้างเป็นตรง ไม่หักงอ โค้งซิกแซกไปมาเหมือน เอื้องสายหลวงลาว แต่บางครั้งเราก็พบว่า เอื้องสายหลวงลาว ลำตรง ๆ ก็มีเช่นกันครับ เมื่อหัดสังเกตุและลองเลี้ยงไปสักพักแล้ว ผู้เลี้ยงจะเริ่มรู้จุดสังเกตุและเข้าใจในความต่างตรงนี้เองครับ ลองศึกษาดูนะครับ

เอื้องสายหลวงลาว
เอื้องสายหลวงลาว ลักษณะของปากดอกจะบานกว้างออก คล้ายกับทัพพี ครับ ปากของเค้าจะบาน ๆ ตาสีเข้มกลมโต และกลีบดอกผายผึ่งกว่าสายหลวงไทย ลำของเอื้องสายหลวงลาวที่มาจากปาก สังเกตุได้ว่า จะมีลักษณะลำหักงอ เป็น เส้นซิกแซก สลับซ้ายขวาคล้ายกับฟันปลา แต่ก็ไม่เสมอไป บางต้นที่มาจากป่าสมบูรณ์ลำต้นก็จะอวบใหญ่ กลมและตรง คล้ายกับของไทยก็มีครับ

เอื้องสายหลวงใต้
เอื้องสายหลวงใต้ เป็น สายหลวง ที่มีลักษณะแปลกสุดในบ้านเราครับ ลักษณะปากของเค้า จะมีขนปกคลุมอยู่ และปากของเค้า จะห่อเป็นกรวย ไม่คลี่บานออกเหมือน เอื้องสายหลวงลาว และ เอื้องสายหลวงไทย ลำของเค้าจะมีลักษณะเล็กเรียวไม่อวบอ้วน แตกตะเกียงง่าย นอกจากนี้ เอื้องสายหลวงใต้ยังพบว่ามีลักษณะของดอก 2 แบบ ดั่งเช่นภาพด้านบน ด้านซ้ายสุดคือ แบบที่มีลักษณะดอกพื้นขาว และปากม่วง และ แบบถัดมาที่พบได้ทั่วไปตามท้องตลาดคือปากห่อมีขนครับ

นอกเหนือจาก สายหลวง ที่มีลักษณะสีสันทั่วไปแล้ว เรายังพบว่ามี สายหลวง ที่มีลักษณะของดอกพิเศษอีก 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่มีสีขาวล้วน หรือ ที่เราเรียกกันว่า เอื้องสายหลวงเผือก และชนิดที่มีตาสีแดง หรือ ม่วง และมีกลีบดอกเป็นสีขาวล้วน เราเรียกชนิดหลังนี้ว่า เซมิอัลบา หมายถึง ลักษณะ ของ กึ่งเผือก ซึ่งเป็นลักษณะทีหาได้ยากที่สุด และมีราคามากที่สุดก็ว่าได้
ภาพ สายหลวงกึ่งเผือก ไม้เมล็ดของคุณชิเนนทร ที่หลุดออกมาเป็นกึ่งเผือกเกือบทั้งชุด

การปลูกเลี้ยง สายหลวง
     สายหลวง เป็นหวายที่เลี้ยงไม่ยาก เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ที่ทนสภาพอากาศร้อนได้ และให้ดอกในพื้นที่ราบได้เมื่อถึง ฤดูกาล การดูแลเจ้า สายหลวง จึงไม่ยุ่งยากนัก โดยปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้

กรณีไม้ออกขวด
- ให้นำลูกไม้ออกขวดนั้น ปลูกลงในสเฟกนั่มมอส หรือ วัสดีที่มีสะสมความชื้นได้ทันที เนื่องจากรากของกล้วยไม้สกุลหวาย จะแห้งได้โดยง่าย หากนำผึ่งในตะกร้าโดยไม่มีเครื่องปลูก จะแห้งตายในที่สุด
- หลังจากนี้ให้ดูแลควบคุมความชื้นให้ดี อย่าให้แฉะจนเกินไป ให้ลูกไม้อยู่บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับ
- ฉีดพ่นปุ๋ยอ่อน ๆ ได้ ใช้สูตรเสมอ สลับกับสูตรตัวหน้าสูง เช่น 21-21-21 สลับกับ 30-20-10
- หลังจากผ่านไป 8 - 9 เดือน ลูกไม้จะโตขึ้นมาก และเริ่มทิ้งใบ อย่าตกใจ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูพักตัวก่อนให้ดอก เมื่อพ้นปีแล้ว ลูกไม้ที่ทิ้งใบนี้จะแทงหน่อใหม่ หากกินอิ่มหนำสำราญดี หน่อใหม่จะโตกว่าเดิมหลายเท่าตัว และพร้อมให้ดอกในปีถัดไป
*****ในฤดูฝน พึงระวัง หากฝนตกทุกวัน ลูกไม้อาจจะเน่าตายได้ ให้พ่นยากันราอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์/ครั้ง

กรณีไม้ที่ได้มาเป็นต้นโตแล้ว
- ให้นำ สายหลวง ปลูกติดขอนไม้ หรือ กระเช้าก็ได้ครับ หากปลูกติดขอนให้ห้อยหัว สายหลวง ลง การปลูกติดขอนไม้ต้อง มีกาบมะพร้าวที่แช่น้ำมาแล้วอย่างน้อย 2 คืน มาแปะรองระหว่างรากกับขอนไม้ และมัดให้แน่น ความชื้นจากกาบ มะพร้าวจะช่วยให้รากใหม่แตกเร็วขึ้น และโตเร็วกว่านำ สายหลวง แปะลงบนขอนไม้เปล่า ๆ ครับ
- หากลงกระเช้า ให้จับลำต้นขึ้น ใช้ฟิว หรือ เชือกฝาง บรรจงมัดลำที่ตั้งขึ้น ให้ยึดกับลวดแขวน เครื่องปลูกเป็นมะพร้าวสับ ที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้วอย่างน้อย 2 คืน จะช่วยให้รากแตกตาใหม่เร็วขึ้นครับ
***บางครั้งก็มักได้ยินเรื่อง ฮอโมนเร่งราก ซึ่งก็ได้ผลดีครับ แต่หากน้ำดีปุ๋ยถึงละก็ ไม่จำเป็นเลยเพราะในปุ๋ยที่เราใช้นั้น มีการผสมฮอร์โมนตัวนี้ลงไปเรียบร้อยแล้วละครับ

หลักการขุนให้ สายหลวง ดอกดก
- ไม่มีอะไรมาก แค่ขยันรดน้ำใส่ปุ๋ยเป็นประจำ สายหลวง ก็พรั่งพรูแล้วละครับ สูตรปุ๋ยไม่แน่นอน ส่วนตัวผมใช้ปุ๋ยสูตร 21-21-21 ฉีดพ่นในช่วงที่หน่อใหม่สลับกับตัวหลังสูง เพื่อให้ได้ลำใหม่ที่อวบใหญ่ยาว เวลาให้ดอกจะได้พลู ๆ พอเริ่มดู แล้วว่าลำใหม่โตเต็มที่แล้ว ผมก็จะเปลี่ยนเป็นสูตร ตัวกลางสูง สลับกับสูตรเสมอ เพื่อให้สะสมอาหารพอที่จะแทงดอก ให้ดูเยอะ ๆ ครับ ซึ่งผลออกมาก็คือต้นในภาพบนสุดครับ ใครจะลองทำตามดูก็ได้นะครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ !

เอื้องสายล่องแล่ง ( Dendrobium aphyllum )

เอื้องสายล่องแล่ง ( Dendrobium aphyllum)
     เอื้องสายล่องแล่ง กล้วยไม้สกุลหวายที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นเอื้องสายที่เลี้ยงง่ายที่สุดก็ว่าได้ครับ !
     เอื้องสายล่องแล่ง จัดอยู่ในกลุ่มกล้วยไม้สกุลหวาย ( Dendrobium ) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่พบเห็นได้ทุกภาคพื้นที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เอื้องสายล่องแล่ง จึงได้รับอีกชื่อหนึ่งว่า เอื้องสายเชียงใหม่ และยังมีอีกหลาย ๆ ชื่อ อาทิเช่น เอื้องสายนกกระจิบ เอื้องสายไหม เป็นต้น
     ด้วยลักษณะนิสัยที่ชอบแตกกอง่าย และให้ลำลูกกล้วยที่เรียวยาวเป็นแนวดิ่งลงสู่พื้นดินนั้น เมื่อถึงเวลาให้ดอก เอื้องสายล่องแล่ง มักจะให้ดอกพลูตั้งแต่โคนต้นไปจนถึงปลายสุด ทำให้ เอื้องสายล่องแล่ง ยามให้ดอกนั้น มองดูราวกับผืนม่านขนาดใหญ่ปกคลุมบนยอดไม้สูง สง่า งดงาม อย่างที่หาเปรียบไม่ได้
     นอกจากนี้ เอื้องสายล่องแล่ง ยังเป็นกล้วยไม้ที่ชอบร้อนมากอีกเสียด้วย ด้วยนิสัยที่ชอบอากาศร้อนจัดนี่เองทำให้
เอื้องสายล่องแล่ง สามารถผลิดอกบานได้ในทุกภาคพื้นที่ในประเทศไทยเรานั่นเองครับ
     เอื้องสายล่องแล่ง มักจะให้ดอกในฤดูร้อนในช่วงเดือน มีนาคม - พฤษภาคม ดอกของ เอื้องสายล่องแล่ง มีลักษณะเกือบจะคล้ายคลึงกับ เอื้องสายน้ำผึ้ง แต่ต่างกันออกไปตรงที่ เอื้องสายล่องแล่ง ปากของเขานั้นจะเล็กกว่า และไม่บานกว้างออก กลีบสีม่วงของ เอื้องสายล่องแล่ง จะมีขนาดใหญ่กว่า ในขณะที่กลีบของเอื้องสายน้ำผึ้งจะมีขนาดเล็กเรียวและทรงรี สีสันของกลีบ เอื้องสายล่องแล่ง นั้นมีสีม่วง บางครั้งก็เป็นสีม่วงอ่อน ๆ ปากของ เอื้องสายล่องแล่ง มีลักษณะสีครีม ผิวกลีบมองดูอ่อนนุ่มละมุน
     ก่อนที่ เอื้องสายล่องแล่ง จะให้ดอกนั้น เอื้องสายล่องแล่ง จะทิ้งใบจนหมดลำต้นหรือลำลูกกล้วย และจะพักตัวยาวนานหลายเดือน แต่ บางครั้งเราก็พบว่า เอื้องสายล่องแล่ง ไม่ทิ้งใบ และให้ดอกได้ ทันทีทั้ง ๆ ที่มีใบอยู่เต็มลำ หรือ มีใบหลงเหลืออยู่บนลำลูกกล้วย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ เอื้องสายล่องแล่ง ให้ดอกโดยไม่ทิ้งใบนั้นสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะได้รับน้ำมากเกินไปจนทำให้ เอื้องสายล่องแล่ง ไม่มีความจำเป็นต้องทิ้งใบเพื่อลดการ คายน้ำก่อนจะให้ดอกก็เป็นได้


♠ภาพ สายล่องแล่งเวียดนาม กลีบจะเป็นสีเขียวต่างจากของไทยที่กลีบออกชมพู
การปลูกเลี้ยง เอื้องสายล่องแล่ง 
เอื้องสายล่องแล่ง เป็นกล้วยไม้ที่ชอบร้อน เลี้ยงง่ายมาก ๆ ครับ เมื่อได้รับ เอื้องสายล่องแล่ง เข้ามาเลี้ยงดูแล้ว ก่อนอื่นให้ตัดรากแห้ง และลำแห้งทิ้งออกเสียให้หมดก่อนแล้ว
- นำ เอื้องสายล่องแล่ง มามัดติดกับขอนไม้ที่เหมาะสม โดยจัดลำให้ห้อยตัวลง หลีกเลี้ยงการมัดติดโดยให้หัวดิ่งลงพื้นตรง ๆ จะดีกว่าครับ เพราะการจับหัวดิ่งลงเลย กล้วยไม้ทรงจะไม่สวยแล้วยังโตช้าด้วยครับ หากเปรียบเป็นเข็มนาฬิกา ผมแนะนำให้ติดตรง 9 นาฬิกา หรือ 3 นาฬิกา ของขอนไม้นะครับ ไม่แนะนำ 6 นาฬิกาครับ เพราะ 6 นาฬิกาจะเป็นการทรมานกล้วยไม้เกินไป อารมณ์เหมือนเราถูกจับห้อยหัวโดยมัดเท้าไว้ครับ
- หาเป็นกระเช้าสี่เหลี่ยม ให้นำวัสดุปลูกเช่น กาบมะพร้าว มารองระหว่าง เอื้องสายล่องแล่ง กับกระเช้าก่อนครับ เพื่อให้ได้รับความชื้นที่พอเพียง เสร็จแล้วมัดให้แน่น แล้วแขวนกระเช้าโดยใช้ลวดเพียงสองขาก็เพียงพอครับ เพื่อให้ลำของ เอื้องสายล่องแล่ง ได้ดิ่งตัวลงมานั่นเองครับ
- รดน้ำวันละ 1 ครั้ง เช้าหรือเย็นก็ได้ครับ ระยะแรกให้แขวน เอื้องสายล่องแล่ง ไว้ในร่มรำไร พ้นแสงแดดจัด เมื่อกล้วยไม้รากเดินดีแล้วจึงค่อย ๆ ขยับเข้าหาแสงแดดที่มากขึ้นเพื่อให้กล้วยไม้ได้ปรุงอาหารอย่างเต็มที่ เพื่อใช้ ในการผลิดอกในครั้งต่อ ๆ ไปนั่นเองครับ

เอื้องคำ Dendrobium chrysotoxum


เอื้องคำ ( Dendrobium chrysotoxum ) ลักษณะทั่วไป: เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย โดยมากพบบนคาคบไม้ ลำต้น โคนเล็กลำลูกกล้วยป่องตรงกลาง เป็นรูปกระสวย สูงประมาณ๑๕-๓๐ ซม. พื้นผิวลำลูกกล้วยมักเป็นร่องหรือ หลายร่อง มีสีเหลือง หรือบางครั้ง สีเหลืองเข้ม เจือน้ำตาลแดง ใบ เกิดที่ปลายรูปไข่ สีเขียวเข้ม มีประมาณ ๒-๕ใบ ใบยาวประมาณ๑๐-๑๕ ซม. ดอก ออกเป็นช่อ จากตาดอกบริเวณส่วนปลายลำลูกกล้วย ก้านดอกแข็ง มักห้อยโค้ง ลง หรือชี้ไปทางด้านข้าง ช่อดอกยาวประมาณ ๒๐-๓๐ ซม. กลีบดอกสีเหลืองสด มีแต้มสีเหลืองเข้มปนน้ำตาลเรื่อๆ อยู่ส่วนในของ กลีบปากบริเวณสองข้างของแผ่นกลีบปาก ( side lope ) ขนาดดอกประมาณ ๕ ซม. ฤดูดอก กุมภาพันธ์-พฤษภาคม

ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในประเทศไทย: ป่า เบญจพรรณ ป่า ดิบแล้งทั่วไปทางภาคเหนือ
แหล่งกระจายพันธุ์ ในภูมิภาค: เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย เมียนม่าร์ ลาว จีนตอนใต้ เวียตนาม (ดาลัด เว้ อันนัม)

     ในภาคเหนือ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลที่ เอื้องคำ บานได้เหมาะเจาะพอดี หญิงสาวชาว เหนือ จะใช้ดอกของ เอื้องคำ เหน็บไว้ที่ผมมวย หรือบางครั้งก็จะมีการนำ เอื้องคำ และ เอื้องผึ้ง มาใส่พานดอกไม้ถวาย พระ เนื่องจากมีสีมงคลเช่นเดียวกับจีวรของพระสงฆ์
     เนื่องจาก เอื้องคำ เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงมาก จึงขึ้นอยู่ตามคาคบไม้สูงในธรรมชาติ หรือ บริเวณที่ที่มีแสงตก กระทบมาก ๆ ซึ่งจะพบมากตามป่าเขาทางภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีให้พบเห็นอยู่บ้างประปราย แต่จะพบเฉพาะ บริเวณที่ที่ห่างไกลชุมชน หรือ หมู่บ้านชาวเขาเท่านั้น ต่างจากอดีตที่พบเห็น เอื้องคำ ได้ทั่วไปตามไหล่ทางขึ้นเขา

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง มีกระแสฮือฮากันเรื่อง เอื้องคำตาดำ ซึ่งกลาย เป็น เอื้องคำ ที่มีผู้คนสนใจมากที่สุด หลายคนเล่าว่า ช่วงที่ เจ้าตาดำ เข้ามานี้ สามารถถีบราคาได้หลายพันบาท และในที่สุด เมื่อมีการค้า กล้วยไม้กระสอบกันมากขึ้น เอื้องคำตาดำ จากราคาหลักพัน ก็เหลือ เพียงหลักร้อยในเวลาอันรวดเร็ว และยังมีการนำ เอื้องคำ ธรรมดา นำมาหลอกปนขายในช่วงนั้นอีกด้วย ยุคทองของ เอื้องคำตาดำ ตอน นั้น จึงมีเกลื่อนเต็มท้องตลาด ซึ่งเหล่าผู้ซื้อ ก็ไม่อาจทราบได้ว่าดำแท้ หรือไม่ ได้เพียงแต่รอคอยการให้ดอกของมันเท่านั้น
ลักษณะโดยทั่วไปของ เอื้องคำตาดำ หากดูต้น ลักษณะทั้งหมด จะเหมือน เอื้องคำ ธรรมดาทุกประการ ต่างกันเพียงดอกของเท่านั้น

เอื้องคำตาดำ จะมีลักษณะของดอกที่ใหญ่กว่า ประมาณ ๑.๕ เท่า ของดอกเอื้องคำบ้านเรา มีตาสีดำคล้ำตรง ปากของดอก และเป็นเอื้องคำที่ชอบอากาศเย็นมากกว่า เอื้องคำ ของบ้านเรา แต่บางพื้นที่อย่างเชียงใหม่ และภาค อีสาน ก็ยังสามารถเลี้ยง เอื้องคำตาดำ ได้อยู่ดี นอกจากนี้ยังทราบจากผู้ที่เคยซื้อไม้ป่ามาซึ่งเล่าว่า บางครั้งซื้อ เอื้องคำตาดำ มา ก็มักจะได้ เอื้องคำ ธรรมดาติดมาด้วย แต่ว่า เอื้องคำทางฝั่งพม่าจะดอกใหญ่กว่า เอื้องคำ ทาง บ้านเรามาก และสีก็ดุเดือดกว่า ซึ่งจะจริงหรือไม่นั้นก็ต้องใช้วิจารณยานกันเองนะครับ

การปลูกเลี้ยงเอื้องคำ
การปลูก เอื้องคำ หากต้องการปลูกติดกับขอนไม้ ให้เรานำขอนไม้ที่เราต้องการปลูกติดนั้นมาล้างให้สะอาด เพราะขอนไม้อาจมีไข่แมลงฝังอยู่ หรือปนเปื้อนทราย หลังจากล้างน้ำจนสะอาดแล้วให้นำ กาบมะพร้าวที่ผ่านการ แช่น้ำไว้แล้วอย่างน้อย ๒ วัน มาวางขั้นระหว่าง เอื้องคำ กับ ขอนไม้ แล้วใช้เชือกฝางมัดให้แน่น อย่าใช้ลวด เพราะ ลวดจะบาดลำของ เอื้องคำ หักได้ เหตุผลที่ต้องมีกาบมะพร้าวรองก็เพราะว่า กาบมะพร้าวจะเป็นเครื่องปลูกเพิ่ม ความชื้นให้กับเอื้องคำได้ ทำให้รากแตกใหม่เร็ว และเจริญงอกงามได้เร็วกว่าการติดบนขอนไม้โดยไม่มีอะไรวาง ขั้นเลย

การปลูกลงในกระเช้า ให้ใช้ถ่านรองก้นภาชนะปลูกก่อน แล้วจึงนำกาบมะพร้าวสับชิ้นใหญ่มาวางทับอีกครั้ง แล้วนำ เอื้องคำ นั่งทับอยู่ชั้นบนสุด ให้ใช้เชือกยึดเอื้องคำกับกระเช้าให้แน่น เพื่อให้รากชิดกับเครื่องปลูกมากที่สุด ซึ่งเป็นผลดีคือ รากได้รับความชื้นสม่ำเสมอ ทำให้รากใหม่แตกเร็ว ต้นไม่โครงเครง กล้วยไม้ตั้งตัวเร็วครับ

การให้ปุ๋ย ที่ Orchidtropical จะให้ปุ๋ยไม่เป็นสูตรครับ แล้วแต่ จะประยุคส่วนใหญ่ จะเป็นสูตรเสมอ ๒๑-๒๑-๒๑ เสร็จแล้ว อาทิตย์ต่อไปก็จะใช้ตัวกลางสูงอาทิตย์ต่อจากนี้ก็สูตรเสมอ และต่อจากนี้ก็จะท้ายสูง แล้วกลับไปใช้สูตร เสมออีก วน เวียนอยู่แบบนี้จนกระทั่งมีดอก ซึ่งก็ได้ผลดี ให้ดอกสวย ลำต้น และใบงอกงาม ดีทีเดียวครับ ลองประยุคต์และปรับเปลี่ยนดู นะครับ
ทำไม เอื้องคำ ไม่ออกดอก
หากผู้เลี้ยงพบกับปัญหาเอื้องคำไม่ยอมออกดอก หรือไม่แทงช่อดอกแล้วละก็ ลองเทียบกับปัจจัยเหล่านี้ดูครับว่า ตรงกับการเลี้ยงของท่านหรือไม่
1. ปลูก เอื้องคำ ในที่ร่มรำไร แสงลอดผ่านน้อย เช่นใต้ต้นมะม่วงที่มีใบทึบหนาแน่น ใต้หลังคาโรงรถ ใต้ชายคา บ้าน หรือแขวนไว้ในที่ที่ร่มจัด (ทดสอบโดยการ เอามือยื่นออกไปด้านหน้า แล้วดูว่ามีเงาไหม ถ้าไม่มี คือร่มไป) กรณีนี้ จะสังเกตุเห็นว่าลำ เอื้องคำ ผอมลีบ แตกก่อเก่ง ใบเขียวสวย จนน่านำไปผัดใส่น้ำมันหอย วิธีแก้ไข : ย้ายไปยังที่ที่ได้รับแสงมาก ๆ อย่างน้อย 5-6 ชม และได้รับแสงเช้าและแสงเย็น สำหรับตอน บ่ายจะร้อน เกินไปเอื้องคำอาจทนความร้อนไม่ไหวอาจไหม้เกรียมได้ แสงที่พอเหมาะคือราว ๆ 80%
****เอื้องคำ ที่ได้รับแสงพอเหมาะ ลำจะอวบอ้วน ไม่ลีบผอม
****กรณีกล้วยไม้เคยอยู่ร่มจัด ให้ค่อย ๆ ขยับออกแดด อย่าจับตากแดดเลย ไม่งั้นไม้จะไหม้ ต้องค่อย ๆ ปรับตัว
****แสงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด บางครั้งไม่ต้องใส่ปุ๋ยแต่ขอให้มีแสงเพียงพอรดน้ำเสมอ ก็มีดอกสวยงามแล้วครับ

2. เอื้องคำ ที่ปลูก เป็นกล้วยไม้ป่า หรือไม้กำ กรณีนี้ ในปีแรก-ปีที่สอง ที่ซื้อมาปลูกเลี้ยง เอื้องคำจะแทงช่อสวยงาม ดี โดยเฉพาะปีแรกที่ได้ไม้มา แต่ภายหลังจากนั้น จะเริ่มสังเกตุเห็นว่า ดอกแทงน้อยลง ที่เป็นแบบนี้เพราะ ช่อ แรกที่เห็นนั้นคือไม้ท้องมาจากป่าแล้วครับ จึงให้ดอกสวยงาม และแน่นอน ก่อนที่กล้วยไม้จะถูกแผ่หลาจำหน่าย เป็นท่อน ๆ มันเคยมีกอใหญ่สวยงาม มีรากแตกเป็นแขนงเต็มต้นไม้ที่มันเกาะ มันจึงสมบูรณ์พูนผลอย่างเต็มที่ กล้วยไม้จึงมีอาหารเพียงพอที่จะให้ดอก หลังจากถูกสับแบ่งขายกล้วยไม้ไม่ได้อยู่เป็นกอแล้ว ถูกแยกเดี่ยว กล้วยไม้จำเป็นต้องตั้งหลักใหม่ มันจึงต้องพักตัวในปีต่อ ๆ มา งดให้ดอก และปรับตัวใหม่ ซึ่งกว่าจะปรับตัวได้ก็ ราว ๆ 3-4 ปีได้ครับ แต่ถ้าให้ปุ๋ยดี มีแสงเพียงพอ กล้วยไม้ก็จะตั้งหลักไว้และให้ดอกได้ตามปกติครับ วิธีแก้ไข : หากได้กล้วยไม้มาแล้ว หลังจากปลูกแตกรากแตกกอดีแล้ว ให้ค่อย ๆ ขยับให้ได้รับแสงมากขึ้น ให้ปุ๋ย ทุกสัปดาห์เพื่อให้กล้วยไม้มีอาหารสะสมเพียงพอที่จะให้ดอกและแตกกอใหม่ได้

เอื้องแววมยุรา Dendrobium fimbriatum

เอื้องแววมยุรา ( Dendrobium fimbriatum Hook )
      เมื่อครั้งอดีต เอื้องแววมยุรา ได้ถูกแยกออกเป็นสองชนิด นั่นก็คือ ชนิดที่มีแต้มสีดำตรงบริเวณปาก ชนิดนี้ถูก เรียกในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium fimbriatum var. oculatum และอีกชนิดตามที่นักพฤกษาศาตร์ได้จด บันทึกไว้คือ ชนิดที่ไม่มีแต้มดำบนบริเวณปาก หรือ สีเหลืองล้วน แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่มีเอกสารเล่มไดกล่าวถึงการค้น พบ เอื้องแววมยุรา สีเหลืองล้วนนี้ในประเทศไทยเลยแม้แต่เล่มเดียว
     ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1975 Mr. Kamemoto และ Mr. Sagarik ได้ยืนยันถึงสายพันธุ์ ดังกล่าว ว่ามีพบในประเทศไทย ในเอกสารวิชาการชื่อ Orchid of Thailand ได้มีการบันทึกอ้างถึง Dendrobuim gibsonii Lindl. ซึ่งได้ถูกจัดรวมเข้า เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งของ เอื้องแววมยุรา แต่ภายหลังจากปี ค.ศ.1985 เป็นต้นมา ก็ได้ถูกจัดแยกออก เป็นอีกชนิดใหม่ เนื่องจากมีความแตกต่าง ของลักษณะกลีบปาก และลักษณะของกลีบนั่นเอง
ลักษณะทั่วไป ของ เอื้องแววมยุรา เากสังเกตุที่ลำลูกกล้วย จะมีลักษณะยาวเรียวเป็นแท่งโคนลำเล็ก ๆ มีความ ยาวราว ๆ 60-120 ซม. ลำจะมีสีน้ำตาลอ่อนปนเหลือง ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่รีสีเขียวสดเรียงกันเป็นรูปขอบขนาน สลับซ้ายขวา
     เมื่อถึงฤดูร้อน ราว ๆ เดือน มีนาคม-มิถุนายน ลำของ เอื้องแววมยุรา ที่ทิ้งใบไปก่อนหน้านี้จะเริ่มแทงดอก โดยดอก ของ เอื้องแววมยุรา จะแทงตรงบริเวณยอดลำ ช่อของดอกจะห้อยยาวลงมา ในหนึ่งช่อ จะให้ดอกประมาณ 10-12 ดอก สีของดอกมีสีเหลืองสด หรือเหลืองอมส้ม ปากมีแต้มสีดำเข้ม หรือบางครั้งอาจพบต้นที่ไม่มีแต้มดำ ริมขอบด้าน นอกของ เอื้องแววมยุรา จะมีลักษณะค่อนข้างแตกต่างจากช้างน้าวคือมีขนหยักเป็นเส้นหยาบ ๆ นั่นเอง

     ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในประเทศไทย: ป่าดิบเขา, ป่าดิบแล้ง, ป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือและ ภาคตะวันตก (แนวเทือกเขาตะนาวศรี) (ตัวอย่างสถานที่ ที่พบที่ถูกบันทึกไว้ ในเอกสารวิชาการในช่วงระยะแรกๆ): แม่ฮ่องสอน น่าน ดอยม่อนอังเกตุ ฝาง เชียงดาว สุเทพ, อุ้มผาง กม. ที่๒๘-๓๑(๖๐๐ ม.) ท่าขนุน(๔๐๐ม.) ดอยสะเก็ด

แหล่งกระจายพันธุ์ในภูมิภาค : เมียนม่าร์, ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ หิมาลัย, เนปาล, สิกขิม, ภูฐาน, เขตตะวัน ออกเฉียงเหนือของอินเดีย, เทือกเขาตะนาวศรีเวียตนาม, ลาว, จีนตอนใต้ (มณฑลกวางสี และยูนาน) และมีรายงาน เคยพบในมาลายา
วิธีการปลูกเลี้ยง เอื้องแววมยุรา เอื้องแววมยุรา จัดเป็นกล้วยไม้ทนร้อนอีกชนิดหนึ่งของไทยเรา กล้วยไม้ชนิดนี้จึงสามารถเลี้ยงได้ทุกภูมิภาคใน บ้านเราเลยครับ การเลี้ยงเจ้า เอื้องแววมยุรา นั้นแสนจะง่ายดาย หากเพื่อน ๆ มีประสบการณ์การเลี้ยงเจ้าเอื้องช้าง น้าวแล้วละก็ เจ้านี่ก็แทบจะไม่ต่างกันเลย
     หากคุณเพิ่งได้ เอื้องแววมยุรา มาใหม่หมาด ๆ ให้นำกล้วยไม้ของคุณ ปลูกลงในกระเช้า โดยมีกาบมะพร้าวที่แช่ น้ำแล้วอย่างน้อย 1-2 คืนรองที่ระหว่างรากกับกระถาง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความชื้นแก่ราก ความชื้นนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ แทงรากใหม่ได้อย่างดีเลยละครับ หรือหากจะปลูกติดขอนไม้ก็ให้ใช้กาบมะพร้าวมารองระหว่าง กล้วยไม้กับ ขอนไม้ ก่อนครับ
****สำหรับ เอื้องแววมยุรา นั้น ให้จับลำตั้งขึ้นนะครับ อย่าห้อยหัวลง ไม่งั้นเลือดลงหัวตายแน่ ๆ ครับ
      หลังจากปลูกติดกับภาชนะปลูกแล้วให้เลี้ยงในที่ร่มรำไร แสงสว่างเข้าถึงราว ๆ 60 - 70% ก่อน เมื่อรากเดินดีแล้ว ค่อยขยับไปยังบริเวณที่แสงมากกว่าเดิมทีละน้อย ๆ จนกระทั้งให้ได้แสงราว ๆ 80 - 90 % ทั้งนี้ก็เพราะว่า เอื้องแววมยุรา นั้นชอบแสงแดดที่จัด ที่สวน Orchidtropical เรานำ เอื้องแววมยุรา เลี้ยงกลางแจ้ง ท่ามกลางแสง แดดเต็มๆ 100% ตลอดวัน ครับ แต่ใน กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ทางภาคใต้ อากาศอาจจะร้อนกว่าภาคเหนือมาก หน่อย การเลี้ยงควรจะปรับเปลี่ยนจากที่ผมแนะนำมาสักเล็กน้อย โดยแทนที่จะนำเจ้า เอื้องแววมยุรา ปลูกเลี้ยงไว้กลางแจ้ง ก็เปลี่ยนเป็นให้ขยับเข้าร่มแทน โดยเลี้ยงใต้แสลนที่ให้แสงลอดผ่านได้ราว ๆ 70-80% นอกจากแสงจะช่วยทำให้เจ้า เอื้องแววมยุรา เติบโตงอกงามเป็นกอใหญ่สวยแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อการให้ดอกอีกด้วย ยิ่งได้รับแสงมาก โอกาสให้ดอกยิ่งมีมากครับ
     การเลี้ยง เอื้องแววมยุรา ในที่ร่มทึบตั้งแต่ 50% ลงไปอัตราการให้ดอกจะลดน้อยลง อาจจะมีดอกบ้าง แต่ดอกที่ได้ จะเป็นช่อพวงสั้น ๆ หรือไม่ก็ไม่ให้ดอกเลยครับ
      เทคนิคโดยทั่วไปแล้วก็ไม่มีอะไรมากครับ เพียงแค่เราขยันให้ปุ๋ยทางใบอย่างสม่ำเสมอ พอใกล้ ๆ ฤดูให้ดอก ให้ งดน้ำบ้าง เช่นจากที่เคยรดน้ำทุกวัน ให้ลองงดเป็น วันเว้นวัน หรือ สองวันรดทีปล่อยให้รากแห้ง ๆ เสียบ้าง ทำแบบ นี้จนกระทั่ง เอื้องแววมยุรา แทงตาดอก ถึงจะเริ่มรดน้ำปกติครับ หากรดน้ำทุกวัน เอื้องแววมยุรา จะแทงตาดอกน้อย กว่า รดน้ำสลับวันครับ เป็นเทคนิคเล็ก ๆ ที่ใช้ได้กับหวายไทยเกือบทุกประเภท ลองทดลองกันดูนะครับ

หวายตะวันตก Dendrobium fytchianum


หวายตะวันตก ( Dendrobium fytchianum ) กล้วยไม้ทรงขนาดกลาง มีดอกพลั่งพลูสีขาวปากแดงราวกับถูกแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางชนิดนี้มีชื่อว่า หวายตะวันตก เขาเป็นกล้วยไม้ที่อวดทรงชูดอกได้น่ารักน่าชังชนิดหนึ่งเลยละครับ และชื่อของ หวายตะวันตก นั้นก็มีที่มาจากถิ่นกำเนิดของเขานั่นเอง ในไทยเราก็คงจะพบได้ทางแถบภาคตะวันตกแถว ๆ แถบชายแดนไทยพม่า แต่ที่แม่ค้าพ่อขายทั้งหลายแบกไม้กำมาจำหน่ายคงหาบมาจากทางพม่ามากกว่า เนื่องจากในไทยเรา หวายตะวันตก ในธรรมชาติเหลือลดน้อยลงจนอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้...

อุปนิสัยส่วนตัวของ หวายตะวันตก นั้น ชอบแสงแดดที่ไม่ร้อนแผดเผาไหม้จนเกินไป อุณหภูมิราว ๆ 30 - 34 องศากำลังดีสำหรับเค้าครับ และเนื่องจากเค้าเป็นกล้วยไม้ที่มีรูปทรง ค่อยข้างผอมเพียว ลำของ หวายตะวันตก โดยเฉพาะตรงโคนต้นจะมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับหัวเข็มหมุด ดังนั้น เค้าจึงเป็นกล้วยไม้ที่ไม่ค่อยชอบเครื่องปลูกชื้นแฉะนัก .... ใช่แล้วครับ หวายตะวันตก ชอบที่แห้ง ๆ มากกว่าแฉะ ๆ นักเลี้ยงหลายท่านอาจพบเจอกับปัญหา โคนต้น หวายตะวันตก เน่า หักง่าย นั่นก็เพราะรดน้ำเกินไป เครื่องปลูกชื้นไปหรือแฉะไปนั่นเอง ดังนั้นควรพึงระวัง เนื่องจากน้องนางเดินทางมาจากดินแดนถิ่นแห้งแล้ง อย่าขยันรดน้ำจนเกินไป มิฉะนั้นเจ้าหล่อนจะสำลักตาย

ฤดูกาลให้ดอกของ หวายตะวันตก
      เมื่อเข้าหนาวเจ้า หวายตะวันตก จะเริ่มถอดทิ้งเสื้อผ้าเหลือแต่ก้านเปลือยเปล่า จงอย่าตกใจ อาจจะนานหน่อย แต่เมื่อถึงปลายปีราว ๆ ปลายเดือนพฤศจิกายน - มกราคม ของอีกปี หวายตะวันตก จะเริ่มพากันชูช่ออวดทรงแสนสวยงาม และเมื่อหลังจากทิ้งเครื่องประดับสีขาวตัดแดงแล้วเจ้า หวายตะวันตก จะขอพักตัวด้วยก้านเปลือยเปล่าอีกครั้งจนกระทั่งอากาศเริ่มอุ่นขึ้น เจ้าหล่อนก็จะแทงหน่อเล็ก ๆ ขึ้นมาใหม่ และเจ้าหน่อน้อย ๆ นี่เอง จะกลายเป็นเจ้าสำอางต้นใหม่ที่ให้ช่อในช่วงหนาวของปลายปีที่จะถึงเร็ว ๆ นี้นั่นเอง

ลักษณะดอก : ดอกของ หวายตะวันตก มีพื้นกลีบเป็นสีขาว และแต่งแต้มสีแดงที่ฝีปากราวกับว่าเป็นสาวงามโปะแป้งและทาลิปสติกยังไงยังงั้น แต่บางครั้งเราก็พบว่า ดอกของ หวายตะวันตก บางต้นยังมีปากเป็นสีเหลืองอีกด้วย ดอกจะแทงออกบริเวณลำลูกกล้วยและแตกแขนงออก เหมือนกับหวาย

ตัดดอกทั่วไป แต่ใน 1 แขนงของ หวายตะวันตก จะประกอบด้วยดอกนับสิบช่อ ซึ่งจำนวนจะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นในปีนั้น ๆ นั่นเองครับ
*****ดอกของ หวายตะวันตก จะบานอยู่ราว ๆ 1 - 2 สัปดาห์และร่วงโรยไปทิ้งไว้เพียงก้านของลำลูกกล้วยที่ว่างเปล่าเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารให้กับลำลูกกล้วยที่จะเติบโตใหม่ในไม่ช้าต่อจากนี้

หลักการเลี้ยง หวายตะวันตก
๏ ระวังอย่าอยู่ร่ม หวายตะวันตก ชอบ แสงเยอะ ๆ และแห้ง ๆ
๏ ปุ๋ยสูตรเสมอ บำรุงต้นและหน่อเข้าไว้ เพื่อดอกที่พลั่งพลูปลายปี
๏ อย่าขยันรดน้ำเช้ารดน้ำเย็น ไม่เช่นนั้นอาจสำลักน้ำตายไม่เหลือหลอ
๏ ในฤดูฝนให้หมั่นฉีดพ่นยากันรา สัปดาห์ละครั้ง
๏ เครื่องปลูกหลีกเลี่ยงรากชายผ้าหรือสเฟกนั่มมอส อาจใส่ได้แต่ห้ามมาก
๏ ระวังการปลูก ให้เครื่องปลูกระบายน้ำง่าย และแห้งไวไม่ชื้นแฉะเกิน

เอื้องสายม่วง สายครั่งยาว Dendrobium lituiflorum


เอื้องสายม่วง บางท่านเรียกกันว่า สายครั่งยาว มีแหล่งกระจายพันธุ์ใน ไทย พม่า ลาว และ อินเดีย ขึ้นอยู่บนความสูงที่ระดับ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ในประเทศไทยมีบันทึกไว้ว่าพบ สายม่วง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริเวณป่าดิบและป่าสนเขา สำหรับสีสันของ สายม่วง นั้น มีทั้งสีม่วงเข้มไปจนถึงม่วงอ่อน ๆ บางครั้งเรามักพบ สายม่วง ที่มีปากเป็นสีเหลืองหรือดำ แทนที่จะเป็นสีม่วงเข้มแทน
      เช่นเดียวกับเอื้องสายชนิดอื่น ๆ สายม่วง จะผลัดใบทิ้งเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว และพักตัวอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงฤดูร้อน ราว ๆ ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ถึงจะมีดอกให้ชม นับว่าเใช้วลาพักตัวอยู่นานถึง 2 - 4 เดือนเลยทีเดียว
      สำหรับ สายม่วง ของผมนั้น จะเริ่มทยอยทิ้งใบในช่วงเดือน 11 และพักตัวยาวไปจนถึงปลายเดือน กุมภาพันธ์ ในช่วงเดือนนี้เอง ที่ สายม่วง เริ่มปรากฏตาดอกเห็นได้ชัดขึ้น ตาดอกนี้จะใช้เวลานานมากทีเดียวกว่าจะกลายเป็นช่อดอกเล็ก ๆ ชูทรวดทรงออกมา เมื่อเริ่มเข้าสู่กลางเดือน มีนาคม สายม่วง จะเริ่มแทงช่อตูมออกมาจากลำแต่ละข้อ และค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นพร้อมเบ่งบานในช่วงเดือน เมษายน ต้อนรับฤดูกาลแห่งคิมหันต์ ดอกของ สายม่วง นั้นมีกลิ่นหอมเบา ๆ แต่ชวนให้หลงไหลและเย้ายวน
     ปัจจัยการทิ้งใบของ สายม่วง นั้น ยังพบด้วยว่าความชื้นและการให้น้ำมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับสายอื่น ๆ หากเราให้น้ำมาก อัตราการทิ้งใบจะช้ากว่ากำหนด และหากไม่ให้หรือปล่อยแห้งเพียงวันถึงสองวัน ไม้สายจะทิ้งใบลง กราว กราว อย่างรวดเร็ว จนน่าตกใจ แต่นั่นก็เป็นข้อดี คือ เราก็จะได้เห็นดอกเร็วขึ้น นั่นเอง


การเลี้ยง เอื้องสายม่วง
จากการเลี้ยงดู สายม่วง หลาย ๆ ต้นพบว่า สายม่วง เป็นหวายที่ไม่ชอบเครื่องปลูกที่อมน้ำไว้มาก และทำให้แฉะตลอดวันอย่าง สเฟกนั่มมอส หรือ รากชายผ้าสีดา นั้นก็เพราะ สายม่วง ชอบแห้งมากกว่าชื้นเสียอีก โดยการทดลองปลูกที่ผ่านมา พบว่า การปลูก สายม่วง ลงในกระถางพลาสติกโดยใช้เครื่องปลูกเป็นรากชายผ้าทั้งหมดนั้น สายม่วงจะเติบโตได้ไม่ค่อยดี และดูไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อเทียบกับ สายม่วง ที่ใช้เครื่องปลูกเป็น รากชายผ้า 20% และ ถ่าน 80% ซึ่งได้ผลดีทีเดียว ดังนั้นการปลูก ควรให้เครื่องปลูกที่เป็นวัสดุกับเก็บความชื้นสูงอย่าง สเฟกนั่มมอส กาบมะพร้าว หรือรากชายผ้า ในปริมาณที่ 20-30% และที่เหลือเป็นถ่านหรือเศษไม้แทน ห้ามเด็ดขาดคือ มะพร้าวตุ้ม เพราะมะพร้าวตุ้มจะทำให้รากของ สายม่วง ขาดอากาศหายใจตายได้ครับ *อย่าลืมว่าเป็นรากแบบกึ่งอากาศ ปริมาณของแสงที่ควรได้รับของ สายม่วง นั้นควรอยู่ที่ 40-60% ช่วงเวลาต้องห้ามที่ไม่ควรได้รับแสงจากดวงอาทิตย์เต็ม ๆ คือช่วง หลัง 11 โมงไปจนถึง บ่าย 2 ครึ่ง เพราะแสงแรงมาก ไม่ว่ากล้วยไม้ต้นไหน ๆ ก็ทนไม่ได้ ยกเว้น ช้างน้าวและจำพวกทนแดดเท่านั้น

สายน้ำครั่ง Dendrobium parishii


     สายน้ำครั่ง หรือ สายน้ำครั่งสั้น จัดอยู่ในสกุลหวาย และเป็นหวายของไทยเรานี่เองครับ เขตกระจายพันธุ์ สายน้ำครั่ง นั้นกว้างขวางมากตั้งแต่มลฑลไฮหนานตัดผ่านประเทศไทยยาวลงไปถึงเวียดนามเลยทีเดียวครับ เนื่องจากมีเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางนี่เอง สายน้ำครั่ง จึงเป็นกล้วยไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป ปัจจุบันในประเทศไทย สายน้ำครั่ง มีไม่มากแล้ว จึงมีการลักลอบนำ สายน้ำครั่ง มาจากเพื่อนบ้านของเราเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น สายน้ำครั่ง ที่เห็น ๆ เป็นกล้วยไม้กระสอบนั้นก็ถูกลักลอบนำเข้ามาจากทางเพื่อนบ้านเรานั่นเองครับ
     สีสันของ เอื้องสายน้ำครั่งสั้น ตามลักษณะทั่วไปแล้ว สายน้ำครั่ง มีเพียงสีเดียวเท่านั้นคือสีม่วงหรือ สีชมพูอ่อนๆ ไปถึงม่วงเข้ม แต่เราก็ยังพบ สายน้ำครั่ง ที่มีสีสันแปลกตาอีกหลากหลายสีเช่น สีขาวล้วน ปากสีดำกลีบดอกขาว ปากสีแดงพื้นดอกขาว ปากสีส้มพื้นดอกขาว และหูดอกขาวนอกนั้นสีม่วง เป็นต้น สีเหล่านี้เราเรียกว่า Semi alba ซึ่งหมายถึง กึ่งเผือก นั่นเองครับ สายน้ำครั่ง เหล่านี้จะเป็น สายน้ำครั่ง ที่
พิการสี คือไม่สามารถมีสีได้ตามปกติ เหมือน สายน้ำครั่ง ธรรมดา มันจึงพิเศษกว่า สายน้ำครั่ง ทั่วไปแน่นอนว่า ราคาของพวกมันก็พิเศษขึ้นไปด้วยเช่นกัน


ฤดูกาลให้ดอก ของ สายน้ำครั่ง จะอยู่ระหว่างช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ - ต้นเดือนพฤาภาคม และช่วงก่อนให้ ดอกเรามักจะพบว่า สายน้ำครั่ง จะพากันทิ้งใบเหลือแต่ลำว่างเปล่า ไม่ต้องตกใจครับ หากพบว่า สายน้ำครั่ง ทิ้งใบ ให้เตรียมตัวลุ้นดอกกันได้เลย ลักษณะการทิ้งใบจะแตกต่างไปตามแต่วิธีการเลี้ยงของแต่ละคน หากไม่รดน้ำเลย สายน้ำครั่ง จะทิ้งใบไวมาก และทิ้งใบได้ตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว แต่หากเป็นคนชอบรดน้ำมาก ๆ สายน้ำครั่ง จะ สามารถคงใบอยู่ไว้ได้จนถึงวันมีดอกได้เลย ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าชอบเห็นดอกพร้อมใบหรือว่าดอกอย่างเดียวละครับ
การปลูกเลี้ยงเอื้องสายน้ำครั่ง เนื่องจาก สายน้ำครั่ง เป็นกล้วยไม้เมืองร้อนอยู่แล้ว การปลูกและ การดูแลจึงไม่ยากนัก เราสามารถปลูกโดยการนำไปติดกับขอนไม้ หรือนำลงปลูกกับกระเช้าก็ได้ครับ ปลูกติดขอนไม้ : ให้นำ สายน้ำครั่ง ที่ได้มา มัดติดกับขอนไม้โดยมีกาบ มะพร้าวที่แช่น้ำทิ้งไว้แล้วอย่างน้อย 2 คืน ขั้นระหว่างกลางเป็นดั่ง หมอนรองระหว่างรากกับขอนไม้ กาบมะพร้าวจะช่วงเก็บความชื้น ทำให้รากของ สายน้ำครั่ง แตกตาใหม่เร็วกว่าไม่ใส่อะไรเลยครับ ปลูกลงกระเช้า : เช่นเดียวกับติดขอนไม้ ควรมีเครื่องปลูกบ้าง หาก เป็นกระถางก้นลึกให้ใส่ถ่านลงไปก่อน โดยตัดก้อนถ่านเป็นก้อน

สี่เหลี่ยมเหมือนลูกเต๋า วางให้เป็นระเบียบด้านล่าง แล้วจึงนำกาบมะพร้าว หรือ รากชายผ้า ปลูกหนีบรากของ สายน้ำครั่ง อีกที ที่เราไม่ใช้กาบมะพร้าวทั้งหมดนั้นก็เพราะว่ากระถางก้นลึกจะเก็บความชื้นได้เยอะมาก อาจทำ ให้ สายน้ำครั่ง เน่าได้ในฤดูฝน หรือ ในกรณีที่เรารดน้ำมากเกินไปนั่นเอง

TIP : หากเราได้ออกขวด สายน้ำครั่ง ละก็ ให้ลองนำรากช้ายผ้าปลูกโดยขึ้นกระเช้า 4นิ้ว เลยไม่ต้องหนีบนิ้ว จะพบ ว่า ลูก สายน้ำครั่ง จะเติบโตรวดเร็วกว่า สายน้ำครั่ง ที่หนีบนิ้วมาก ทั้งนี้เนื่องจากเอื้อง สายน้ำครั่ง ชอบเครื่องปลูกที่ มีความชื้นและฮิวมัสสูง มันจึงเติบโตได้ดีกับรากชายผ้าสีดานั่นเองครับ
เมื่อใกล้ถึงฤดูให้ดอก รากชายผ้าจะเก็บความชื้นค่อนข้างสูง ให้ระวังอย่ารดน้ำมากมิเช่นนั้น ดอกจะออกทั้ง ๆ ที่มี ใบติดอยู่ ทำให้ดูไม่สวยงาม ให้เรางดน้ำบ้างวันเว้นวัน ปล่อยแห้งบ้าง เพื่อให้ทิ้งใบไปตามปกติของ สายน้ำครั่ง ทั่วไป ปุ๋ย : ไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่แต่ละคนว่าจะให้ขนาดไหนครับ ที่ orchidtropical รดปุ๋ยหลัก ๆ เป็นสูตรเสมอแล้วสลับ กันไป เช่น อาทิตย์ที่หนึ่ง สูตรเสมอ อาทิตย์ที่สอง ตัวกลางสูง อาทิตย์ที่สาม สูตรเสมอ อาทิตย์ที่สี่ตัวท้ายสูง สลับ มั่วไป ๆ มา ๆ บางทีก็ลืมรด กลางสูงสองสัปดาห์ซ้ำกันไปเลยครับ !
***สำคัญที่สุด คือ ถ้าเราขยันให้ปุ๋ยทุกสัปดาห์ตามปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำไม่ขาดไม่เกิน ไม่ว่าจะเป็น สาย น้ำครั่ง หรือ กล้วยไม้ชนิดได ๆ ก็ตาม ก็จะให้ดอกตรงตามฤดูและพรั่งพลูสวยงามทุกชนิดครับ ไม่เชื่อลองดูได้ครับ ผมได้ทดลองไม่รดปุ๋ยตลอด 1 ปี พบว่ากล้วยไม้ให้ดอกน้อยลง ไม่ตรงฤดูกาล และสีสันอ่อนลง ลำต้นบอบบางลง ต่างจากปีที่รดปุ๋ยเป็นประจำทุกสัปดาห์ ดังนั้น เพื่อน ๆ ที่อยากทดลองงดปุ๋ยแนะนำว่าอย่าเชียวครับ เนื่องจากผม เป็นหนูทดลงอให้แล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย รดปุ๋ยต่อไปเถอะนะครับ เพื่อดอกไม้ที่สวยงามยามฤดูผลิบาน 

เอื้อง สายน้ำผึ้งไทย Dendrobium primulinum


เอื้องสายน้ำผึ้งไทย ( Dendrobium primulinum )
     เอื้องสายน้ำผึ้ง เป็นกล้วยไม้ที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางตั้งแต่ เมืองยูนาน ประเทศจีน พม่า ลาว ไทย และเวียดนาม เติบโตบนความสูงตั้งแต่ 500 - 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่กระนั้นกลับเลี้ยงในสภาพพื้นราบในบ้านเราได้อย่างไม่สะทกสะท้าน
สายน้ำผึ้งไทย ลักษณะโดยทั่วไปคือมีกลีบดอกมีขนาดเล็กสีม่วงอ่อนไปจนถึงเข้ม และที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ มีปากที่บานขนาดใหญ่ บริเวณปากมีเส้นสีม่วงขีดอยู่ หากมองผิวเผินจะมีลักษณะคล้ายกับเส้นเลือดฝอย บริเวณ ปากของ สายน้ำผึ้งไทย ไม่มีสี ในขณะที่ สายน้ำผึ้งลาว จะมีสีเหลืองอยู่บริเวณที่ปากดอก เอื้องสายน้ำผึ้ง มีกลิ่นหอมที่เย้ายวนให้หลงไหลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะยามบ่าย หากได้เดินผ่าน เอื้องสายน้ำผึ้ง ที่กำลังเบ่งบานอยู่เต็มลำแล้วละก็ เราจะได้กลิ่นหอมนี้โชยอยู่ทั่วบริเวณเลยครับ
ฤดูกาลให้ดอก เอื้องสายน้ำผึ้ง คือ ระหว่างช่วงเดือน กุมภาพันธุ์ - เมษายน โดย เอื้องสายน้ำผึ้ง จะเริ่มทยอยทิ้ง

ใบในช่วงปลายหนาว ระหว่าง พฤศจิกายน - มกราคม และจะพักตัวโดยเหลือเพียงแต่ลำลูกกล้วยไปนาน เมื่อเริ่มเข้าฤดูร้อน ราว ๆ ต้นเดือนกุมภาพันธุ์ หากสังเกตุที่ลำลูกกล้วยก็จะพบว่ามีตุ่มดอกมากมายเกิดขึ้นเรียงราย ตามข้อลำลูกกล้วย ลองสังเกตุกันดูนะครับ
ในฤดูกาลให้ดอกของ เอื้องสายน้ำผึ้ง เรามักจะพบศัตรูกล้วยไม้ที่เรียกว่า เพลี้ยไฟ หรือ ตัวกินสี ไต่อยู่บนดอกของสายน้ำผึ้ง อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยากแก่การกำจัด ตัวกินสีเหล่านี้คือตัวการสำคัญที่ทำให้ดอกของ เอื้องสายน้ำผึ้ง บานอยู่ได้ไม่ถึงสัปดาห์ สำหรับการป้องกันเพลี้ยไฟ สามารถอ่านบทความเรื่องแมลงศัตรูกล้วยไม้ได้ในหน้าบทความทั่วครับ

ปัจจัยการการทิ้งใบของ เอื้องสายน้ำผึ้ง นั้นคืออากาศที่แห้งจัดในช่วงฤดูหนาว แต่หากเรารดน้ำเป็นประจำทุกวันจะพบว่า เอื้องสายน้ำผึ้ง จะชลอการทิ้งใบลง ซึ่งก็เป็นผลดีที่ว่า เอื้องสายน้ำผึ้ง ยังสามารถใช้ใบปรุงอาหารเก็บสะสมได้มากขึ้น และมีผลต่อการให้ดอกในฤดูร้อนที่จะถึง เมื่อ เอื้องสายน้ำผึ้ง ทิ้งใบไปจนหมดแล้ว ในช่วงฤดูใกล้ถึงดอกหรือ ในช่วงกลาง ๆ เดือน มกราคม หรือ ต้น ๆ กุมภาพันธ์ ลองให้น้ำสลับวันดูนะครับ เนื่องจาก หากให้น้ำเป็นประจำแล้ว เอื้องสายน้ำผึ้ง จะแทงตาดอกน้อยกว่า เอื้องสายน้ำผึ้ง ที่ได้น้ำ แบบอด ๆ อยาก ๆ ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติของต้นไม้ทั่วไป ที่พอถึงหน้าแล้งต้นไม้มักคิดว่าตัวเองต้องตาย จึงต้องผลิตทายาทให้มากที่สุดนั่นเองครับ ทีนี้ดอกก็พลูเป็นพลุไฟเลยทีเดียว (ปล. ไม่รับรองนะ ต้องลองเอง)


การปลูก เอื้องสายน้ำผึ้ง
เอื้องสายน้ำผึ้ง นั้นเลี้ยงไม่ยากเลยครับ ชอบแสงประมาณ 60-70% เครื่องปลูกควรไม่อุ้มน้ำจนเกินไป การปลูกลงในกระเช้าควรมีเครื่องปลูกเป็นวัสดุเพิ่มความชื้น 30% และที่เหลือเป็นถ่านหรือเศษไม้ก็ได้ครับ สำหรับผมแปะติดกับขอนไม้รองกาบมะพร้าวเพียง 10% เท่านั้น เอื้องสายน้ำผึ้ง ของใครมีดอกแล้วอย่าลืมมาโชว์แบ่งกันชมบ้างนะครับ 

เอื้อง สายน้ำผึ้งลาว Dendrobium primulinum Laos


เอื้องสายน้ำผึ้งลาว ( Dendrobium primulinum Laos)
     เอื้องสายน้ำผึ้งลาว เป็น เอื้องสายน้ำผึ้ง ที่มีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา ลักษณะทั่วไปของ เอื้องสายน้ำผึ้งลาว ทั่วไปคือ มีปากขยายใหญ่ และกลีบขนาดเล็กจำนวน 5 กลีบเช่นเดียวกับ สายน้ำผึ้งไทย บ้านเรา แต่ที่แตกต่างออกไปคือ สายน้ำผึ้งลาว จะมีสีเหลืองป้ายอยู่บริเวณปาก ซึ่งทำให้มันดูมีสีสันแปลกตากว่า
     หากสังเกตุที่ลำลูกกล้วยจะพบว่า ลำลูกกล้วยจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลคล้ำ ถึง ดำ ในขณะที่ เอื้องสายน้ำ ผึ้งไทยนั้นมีสีออกไปทางสีเขียวเสียส่วนใหญ่
     เอื้องสายน้ำผึ้งลาว มีกลิ่นหอมคล้ายกับสายน้ำผึ้งไทย แต่โดยส่วนตัวผมกลับคิดว่า เอื้องสายน้ำผึ้งของไทยเรา มี กลิ่นที่หอมแรงกว่า จะเป็นเพราะต้นที่ผมเลี้ยงนั้นมีกลิ่นเบาหรือเป็นเพราะสายพันธุ์ คงต้องลองวานผู้คลั่งไคล้สาย น้ำผึ้งช่วยกันพิสูจน์หน่อยแล้วละครับ !


เช่นเดียวกับสายน้ำผึ้งบ้านเรา เอื้องสายน้ำผึ้งลาว จะเริ่มทยอยทิ้งใบ เมื่อถึงปลายปี และจะเริ่มพักตัวไปราว ๆ 1-2 เดือน หลังจากนั้นเราจะ สังเกตุเห็นตุ่มดอกตามข้อของสายน้ำผึ้งลาว ซึ่งส่วนใหญ่ 1 ข้อใบ จะ ให้ดอกเพียง 1 ดอก ดอกของ เอื้องสายน้ำผึ้งลาว จะดกสวยหรือไม่นั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความสมบูรณ์ของต้น หากต้นยาวมาก และจำนวนหน่อมาก เราก็จะได้เห็นดอกของ เอื้องสายน้ำผึ้งลาว บานสะพรั่งสดหวาน สวย ซึ่งดอกของ เอื้องสายน้ำผึ้งลาว นั้นจะบานเพียง 1-2 อาทิตย์ นับ หลังจากที่บานเต็มที่แล้ว แต่หากเรารดน้ำไปถูกดอกของเขาแล้ว เอื้อง สายน้ำผึ้งลาว จะถือดอกได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็จะร่วงโรยไป ทั้งนี้เนื่อง จากดอกของ เอื้องสายน้ำผึ้งลาว นั้นบอบบาง เมื่อถูกน้ำก็จะช้ำ และ เสียหาย อัตราการโรยจึงเร็วกว่าปกติ เราควรรดน้ำเพียงให้โดย เฉพาะรากเท่านั้น หากต้องการให้ดูดอกได้นาน ๆ ดอกของ เอื้องสาย น้ำผึ้งลาว จะบานในช่วง ฤดูร้อน คือ ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน โดยประมาณ


การปลูกเลี้ยง เอื้องสายน้ำผึ้งลาว
สำหรับการเลี้ยงเจ้า เอื้องสายน้ำผึ้งลาว นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิดครับ เนื่องจากเจ้าตัวเป็นไม้เมืองร้อนแต่เดิมแล้ว จึงไม่ค่อยมีปัญหากับสภาพอากาศในพื้นราบมากเท่าไดนัก การปลูกที่นิยมมักจะนำไปแปะติดกับขอนไม้ ซึ่งการติด กับขอนไม้นั้น ให้เราหาวัสดุที่เพิ่มความชื้นอย่างกาบมะพร้าว นำมาแช่น้ำสัก 1-2 คืน เพื่อให้ยางกาบมะพร้าวอ่อนตัว ลง หลังจากนี้ จึงสามารถนำ เอื้องสายน้ำผึ้งลาว ของเราลงแปะติดกับขอนไม้ได้ครับ โดยมัดให้แน่น หากไม่แน่น เมื่อ กล้วยไม้สั่นคลอน อัตราการแตกรากใหม่จะช้าลงครับ

เอื้องสายน้ำผึ้งลาว ชอบแสงประมาณ 40-60% ผู้เลี้ยงควรปลูกในที่ร่มอย่างใต้สแลน หากเป็นร่มใต้ชายคา เราไม่ แนะนำครับ หากเลี้ยงในร่มจัด เอื้องสายน้ำผึ้งลาว จะงามแค่ช่วงแรก ๆ และเริ่มหดลำลงตายในที่สุดซึ่งอาจกินเวลา ราว ๆ 1 - 3 ปี แต่หากเราเลี้ยงในพื้นที่ที่ อากาศถ่ายเทสะดวก และมีความชื้นพอเหมาะพอดี มีแสงเข้าถึงอย่างสม่ำ เสมอใน 1 - 3 ปี แทนที่กล้วยไม้จะเริ่มโทรม เขาจะเริ่มแตกหน่อใหม่มากขึ้นและยาวขึ้น ซึ่งแน่นอนหากถึงฤดูให้ดอก เอื้องสายน้ำผึ้งลาวจะพรั่งพรูดอกของเขาให้เราชมจนรู้สึกว่าคุ้มค่าที่เลี้ยงดูมาอย่างดีเลยครับ

ในช่วงฤดูดอก มักมีเพลี้ยไฟเข้ามารบกวน ศัตรูกล้วยไม้ชนิดนี้จะทำให้ดอกของ เอื้องสายน้ำผึ้งลาว บานได้ไม่นาน ครับ วิธีป้องกัน ลองอ่านดูได้ที่ บทความเรื่อง เพลี้ยไฟ ครับ

เอื้องช้างน้าว Dendrobium pulchellum


ภาพ ช้างน้าว ดอกโทนสีออกแดง ที่สวนชิเนนทร
      ช้างน้าว หรือ เอื้องช้างน้าว เป็นกล้วยไม้ทนร้อนกลุ่ม Dendrobium หรือ หวาย ของบ้านเรานี่เองครับ ในพื้นที่ตามชนบทหรือพื้นที่ราบเขา หรือ ป่าแล้ง เรามักพบ ช้างน้าว ขึ้นเกาะอยู่ต้นไม้สูง แต่พิเศษไปกว่ากล้วยไม้สกุลหวายอื่น ๆ เรายังพบว่า ช้างน้าว ยังสามารถขึ้นเกาะบนผาหินสูงชันได้อีกด้วย !
     ลักษณะแสนพิเศษของ ช้างน้าว คือมีลำที่ยาวยื่นทอดออกไป ลำของ ช้างน้าว จะไม่ห้อยลงเหมือนกับเอื้องสายชนิดอื่น ๆ กลับกัน ช้างน้าว จะให้ลำที่แข็งทื่อ โน้มเอียงไม่เป็นสายคล้ายกับกิ่งไม้ขนาดใหญ่ที่มีใบทรงรีสลับซ้ายขวาเรียงตัวจนสุดลำ หน่อที่กำลังแตกใหม่ที่เราได้เห็นในปีนี้จะยังไม่ให้ดอกจนกว่าจะถึงปีถัดไป เมื่อหน่อแก่ตัวได้ที่กลายเป็นลำก้านที่ทอดยาวออกไปราวคันเบ็ด ช้างน้าว จะเริ่มทิ้งใบในช่วงต้นปี และอาจพักตัวอยู่ราว ๆ ๑-๒ เดือน หลังจากนั้น ช้างน้าว จะเริ่มแทงตาดอกในราว ๆ ช่วงเดือน กุมภาพันธุ์ - พฤษภาคม ดอกของ ช้างน้าว จะแทงออกในส่วนของปลายยอดสุดของลำลูกกล้วย ใน ๑ ลำ หาก ช้างน้าว มีลำต้นที่สมบูรณ์แล้วละก็มันสามารถให้ดอกได้มากถึง ๔ ช่อ ในขณะที่ปกติจะสามารถให้ดอกได้ราว ๆ ๑ - ๒ ช่อ ดอกของ ช้างน้าว มีลักษณะเป็นสายยาวลงมาจากปลายยอด มองคล้ายกับสายเบ็ดที่ร้อยตัวลงมาจากคานเบ็ดไม่ผิดเพี้ยน ขนาดของดอก ช้างน้าว มีขนาดใหญ่ พื้นดอกมีสีเหลืองอ่อน บางครั้งก็พบว่ามีสีแดงในบางต้น บนปากดอกนั้น ช้างน้าว จะมีตาสีดำที่กลมใหญ่เด่นแปลกตาและสวยงาม
ภาพ ลักษณะการแทงช่อ และช่อดอกของ ช้างน้าว
     ในวิทยาศาสตร์ ช้างน้าว มีชื่อว่า Dendrobium pulchellum และมันยังถูกเรียกอีกหลาย ๆ ชื่อในบ้านเราอีกด้วยครับ อาทิเช่น เอื้องคำตาควาย เอื้องตาควาย สบเป็ด และยังมีชื่อพิลึก ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินอีกเช่น ปะเหน่มีเพ้ย พอมียอเอ้ะ หากให้เดาละก็สองชื่อหลังนี้คงได้รับการแต่งจากชนชาวเขาอย่างแน่นอนเชียวครับ !
     ด้วยลักษณะที่ทนร้อนพิเศษนี้ ช้างน้าว ยังได้เป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาเนิ่นนาน หนึ่งในลูกผสมของ ช้างน้าว ที่ได้รับความนิยมก็คือ Dendrobium Gatton Sunray (เดน-โดร-เบียม-แกต-ตัน-ซัน-เรย์) มันเป็นลูกผสมสีเหลืองสดใสตตาดำเด่นและมีดอกขนาดใหญ่ พ่อแม่ของไม้ชนิดนี้มาจาก เอื้องช้างน้าว หรือเอื้องตาควาย (Dendrobium pulchellum) เข้ากับ Dendrobium Illustra ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องคำ ผสมเข้ากับ ช้างน้าว(Den. chrysotoxum x Den. pulchellum) นับได้ว่าเป็นไม้ที่ทำซ้อนกันถึง ๒ ชั้นเลยทีเดียวครับ

ภาพดอกของ Dendrobium Gatton Sunray ลูกผสมระหว่าง ช้างน้าว x Dendrobium Illustra

วิธีปลูกเลี้ยง ช้างน้าว
     ช้างน้าว เป็นกล้วยไม้เลี้ยงง่ายมากครับ และเป็นกล้วยไม้ที่ทนร้อนเก่งมากซะด้วย เราสามารถเลี้ยงเจ้า ช้างน้าว ให้มีดอกสวยงามได้ดังนี้
๑. นำกาบมะพร้าวที่ผ่านการแช่น้ำไว้แล้วอย่างน้อย ๒-๓ คืน มาเตรียมไว้ครับ ต้องแช่น้ำก่อนนะครับ ถ้าไม่แช่ กล้วยไม้จะโตช้า
๒. ถ้าเป็นไม้ดิบ ให้นำกาบมะพร้าวทุบให้เป็นแผ่น วางรองระหว่างขอนไม้กับ ช้างน้าว ที่เตรียมปลูก กาบมะพร้าวที่ชื้นได้ที่จะช่วยให้รากของช้างน้าวเดินไวขึ้น
๓. นำไปแขวนไว้ในที่ที่มีแสงส่องถึงอย่าร่มรำไรมากเกินไปเพราะอาจจะเน่าตายได้
๔. หากปลูกในกระถาง ให้นำถ่านกลบพื้นกระถางสักครึ่งหนึ่งก่อน แล้วค่อยนำมะพร้าวสับกลบทับลงไป หลังจากนั้นใช้กาบมะพร้าววางล้องรอบขอบกระถาง นำต้น ช้างน้าว ที่เตรียมไว้ ตั้งไว้ตรงกลาง แล้วค่อย ๆ กลบรากด้วยมะพร้าวสับชื้นเล็ก
***ระวัง อย่ากลบจนมิดโคนไม่เช่นนั้น ช้างน้าว จะเน่าได้ เอาพอบาง ๆ และจับช้างน้าวตั้งให้ได้ด้วยการหาไม้มาค้ำหรือลวดพยุง***
๕. หากเป็นไม้เพาะเลี้ยงจากฟาร์ม ให้ใช้มะพร้าวตุ้ม หุ้มราก แล้วใส่กระเช้ากลมได้เลยครับ

ภาพ ช้างน้าว เผือก
     เมื่อรากช้างน้าวเริ่มเดินดี ควรเริ่มขยับ ช้างน้าว ให้ได้แสงมากขึ้น แสงจะเป็นปัจจัยช่วยให้ ช้างน้าว มีดอกตามฤดูกาลครับ และเพื่อที่จะได้เห็นดอกของ ช้างน้าว อย่างสมบูรณ์ที่สุด เราควรหมั่นพ่นปุ๋ยเกล็ดอย่างสม่ำเสมอ ทางสวนออร์คิดทรอปิคอล เรามักใช้สูตรปุ๋ยเสมอเช่น ๒๑-๒๑-๒๑ เป้นต้นครับ ระวังอย่ารดน้ำตอนสายมากเพราะน้ำที่ไปขังตามกาบใบอาจทำให้ ช้างน้าว เน่าได้ ยอดใหม่ของช้างน้างค่อนข้างบอบบาง ให้พึงระวังเป็นอย่างยื่งครับ หากรดน้ำสายและน้ำไปขังในยอดใหม่ เมื่อแสงแดดจัด ๆ อาจทำให้ยอดเน่าได้เลยครับ และเมื่อยอดเน่าเราก็จะอดดูดอกในปีต่อไปนั่นเอง !

เอื้องแปรงสีฟัน


     เอื้องแปรงสีฟัน จัดอยู่ในกล้วยไม้กลุ่มสกุล Dendrobium หรือ หวาย มันเป็นกล้วยไม้ที่รู้จักกันดีไม่ว่าจะเป็นนักเล่นกล้วยไม้เก่าหรือใหม่ ด้วยลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใคร เอื้องแปรงสีฟัน จึงได้รับฉายาหลากหลายมากมาย อาทิเช่น แปรงสีฟันพระอินทร์, เอื้องหงอนไก่, คองูเห่า และ กับแกะ
     เมื่อปี ค.ศ. 1825 เอื้องแปรงสีฟัน ได้ถูกตีชื่อลงในระบบพฤกษาศาสตร์เป็นครั้งแรก โดย นาย Carl Blume ซึ่งในครั้งนั้น เอื้องแปรงสีฟัน ยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มสกุลของ Dendrobium แต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Pedilonum แต่พอให้หลัง 4 ปีหลังจากได้จัดกลุ่มให้ เอื้องแปรงสีฟัน แล้ว นาย John Lindley ก็ได้ให้ชื่อใหม่ว่า Dendrobium secundum ซึ่งก็กลายเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ที่ใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันครับ
     ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เราเรียกเจ้ากล้วยไม้ชนิดว่า เอื้องแปรงสีฟัน ในต่างประเทศเองก็มีชื่อเรียกเจ้ากล้วยไม้ชนิดนี้ว่า Toothbrush orchid ที่แปลได้ว่า เอื้องแปรงสีฟัน เช่นเดียวกับเรา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าด้วยลักษณะรูปร่างของทรงช่อของดอกและลำต้นโดยรวมแล้วคล้ายกับแปรงสีฟันจริง ๆ ก็เป็นได้ครับ

ภาพ : เอื้องแปรงสีฟันเผือก
     ในบ้านเรานั้นสามารถพบเห็น เอื้องแปรงสีฟัน ได้เกือบทุกแหล่งป่าไม้ในประเทศไทย ด้วยนิสัยที่สามารถเติบโตได้ดีแม้ภูมิอากาศแห้งแล้ง เอื้องแปรงสีฟัน จึงมีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางคลอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ของเทืองเขาหิมาลัย จีน พม่า ไทย อินโดจีน และภูมิภาคเอเชีย
      ลักษณะดอกของ เอื้องแปรงสีฟัน มีขนาดเล็กกระจุกอยู่บริเวณก้านดอกรูปร่างคล้ายแปรง มีสีสันตั้งแต่ สีชมพูอ่อน ไล่โทนไปหาสีบานเย็นเข้ม แต่บางต้นก็ให้สีสันที่ประหลาดออกไปเช่นสีขาว หรือ ที่เราเรียกกันว่า กล้วยไม้เผือก ซึ่งเป็นสีที่หาพบได้ไม่บ่อยนักในกล้วยไม้แต่ละสายพันธุ์
     เอื้องแปรงสีฟัน มักจะให้ดอกบริเวณปลายยอดของลำต้น โดย 1 ลำ สามารถให้ดอกได้ตั้งแต่ 1 - 3 ช่อ ผลิดอกบานในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน โดยก่อนให้ดอก เอื้องแปรงสีฟันจะทิ้งใบพักตัวในช่วงฤดูหนาวก่อน และเมื่อหลังจากผลิบานดอกแล้ว ก็จะแทงหน่อใหม่ในช่วงฤดูร้อนเข้าฝนพอดี

กอขนาดใหญ่ของ เอื้องแปรงสีฟัน ที่พืชสวนโลก พ.ศ. 2555

     การปลูกเลี้ยง เอื้องแปรงสีฟัน
     เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ที่สามารถเลี้ยงได้แม้ในสภาพที่ร้อนอย่างตัวเมืองจึงเป็นกล้วยไม้ที่ไม่ยุ่งยากนักกับวิธีการเลี้ยงครับ ซึ่งผู้ปลูกเลี้ยงสามารถดูแลเอาใจใส่ได้ดังนี้
     • ในกรณีกล้วยไม้ขวด เมื่อได้รับ เอื้องแปรงสีฟัน ที่เป็นลูกไม้แล้ว แนะนำให้หนีบขึ้นนิ้วได้ทันทีครับ เนื่องจากกล้วยไม้สกุลหวายมีรากขนาดเล็กและแห้งง่ายเมื่อถูกลมพัด รากอาจแห้งกรอบได้หากไม่หนีบปลูกในกระถางนิ้วด้วยเตรื่องปลูก ซึ่งทำให้ลูกไม้ขาดน้ำตายได้ครับ วิธีการหนีบกล้วยไม้
     - ให้ใช้สเฟกนั่มมอส หรือ กาบมะพร้าวที่แช่น้ำทิ้งไว้แล้วอย่างน้อย 2 - 3 คืน เพื่อละลายยางมะพร้าวออกก่อนครับ เพราะยางมะพร้าวจะทำให้ลูกไม้โตช้าได้ครับ เสร็จแล้ว นำสเฟกนั่มมอส หรือ กาบมะพร้าว พันรากไว้ หรือ ประกบราก แล้วใส่ลงกระถางนิ้วเท่านั้นครับ รดน้ำเพียงเวลาเดียว เช่นเช้า หรือ เย็น อย่าให้แฉะจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกไม้เน่าตายได้ครับ หลังจากผ่านไป 1 เดือนหลังจากออกขวด เราก็สามารถให้ปุ๋ยอ่อน ๆ ได้เช่น สูตร 30-20-10 เพื่อเร่งต้นให้โตเร็วขึ้น สลับกับสูตรเสมอ 21-21-21 เป็นต้นครับ
     • กรณีได้กล้วยไม้ต้นใหญ่มา เราสามารถนำมาติดเกาะขอนไม้ได้ โดยให้ลำตั้งขึ้นครับ หรือ นำปลูกลงในกระเช้า 4 นิ้วก็ได้ครับ สวยเก๋ไปอีกแบบ


โอโนมานู Dendrobium superbum var.anosmum


     โอโนมานู จัดได้ว่าเป็นสายหลวงชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ ชื่อของ โอโนมานู ที่เราเรียกกันใน ปัจจุบันนั้นเริ่มต้นมาจากประเทศฮาวายครับ ชื่อของ โอโนมานู นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า Honohono ซึ่งเป็นชื่อเรียกใน ท้องทิ่นของพืชวงศ์ผักปลาบชนิดหนึ่ง และด้วยผักปลาบชนิดนี้มีหน้าตาไปคล้ายคลึงกับ โอโนมานู ขณะยังไม่ทิ้งใบ ชาวฮาวายก็เลยเรียกกล้วยไม้ชนิดนี้เสียเลยว่า Honohono ไม่ก็ Okika honohono ครับ ซึ่งพอกล้วยไม้ชนิดนี้เข้ามา ในเมืองไทยเลยโดนกร่อนเสียงจนกลายเป็นคำว่า โอโนมานู ไม่ก็เรียกสั้น ๆ กันว่า โอโน นั่นเองครับ
     เมื่อเราลองมาสังเกตุดูรูปร่างหน้าตาของ โอโนมานู กับ สายหลวงของไทยและลาวแล้ว เจ้า โอโนมานู คงต้อง แปลกกว่าอย่างแน่นอน เนื่องจากลักษณะดอกของเจ้า โอโนมานู จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย สีสันชมพูชัดกว่า บริเวณปาก โอโนมานู จะมีปากที่ม้วนกลม ปกปิดด้วงตากลมแดงไว้ด้านใน และมีปลายจวักแหลมเล็กน้อยตรงปลาย ปาก ในขณะที่ สายหลวงไทย และสายหลวงลาว ปากจะบานกว้าง

ออกเผยให้เห็นดวงตากลมแดงชัดเจน เว้นแต่สายหลวงใต้บ้านเราที่ปากจะม้วนคล้าย โอโนมานู แต่สีสันและขนาดของดอกกลับด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
     สีสันของเจ้า โอโนมานู หรือ สายหลวงฟิลิปปินส์ นอกจากสีชมพูออกบานเย็นหน่อย ๆ แล้ว เรายังพบสีประหลาด ๆ อีก 2 - 3 สี คือ สีขาวล้วน หรือเผือก สีขาวตาแดง เซมิอัลบา และ เซมิอัลบา แบบ ลายด่าง ซึ่งเป็นของชาวต่างชาติชื่อ Callman Au, Mililani ได้รับรางวัล CCM HOS ถึง 83.2 คะแนน นับได้ว่าเป็น โอโนมานู ที่สวยที่สุดก็ว่าได้ครับ


ฤดูกาลให้ดอก ของ โอโนมานู จะแตกต่างจากสาย หลวงบ้านเราเล็กน้อย โอโนมานู มักให้ดอกในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม แต่ส่วนใหญ่จะบานกันในช่วง กุมภาพันธ์ เสียมากกว่า โดยก่อนให้ดอก โอโนมานู จะ ทิ้งใบล่อนจ้อน หลังจากให้ดอกแล้ว โอโนมานู ก็จะเริ่ม แทงหน่อใหม่ซึ่งหน่อใหม่นี้จะให้ดอกในปีถัดไป นั่นเอง กลิ่นของ โอโนมานู นั้นหอมหวานมาก แตกต่างจาก สายหลวงบ้านเราเล็กน้อย ส่วนตัวผมคิดว่า โอโนมานู กลิ่นหอมแรงกว่า สายหลวงของแถบบ้านเราครับ ลอง พิสูจน์กันดูนะครับ

วิธีการปลูก สายหลวง โอโนมานู หรือ สายหลวงฟิลิปปินส์


เนื่องจาก โอโนมานู เป็นกล้วยไม้ที่มาจากแถบฟิลิปปินส์ จึงเป็นกล้วยไม้ที่อยู่บ้านเราได้สบายหายห่วง เลี้ยงกันได้ ตั้งแต่เหนือจรดใต้เลยทีเดียวครับ อ้อ ผมลืมบอกไป สายหลวง โอโนมานู ให้ดอกที่ดกและแน่นกว่าสายหลวงแถบบ้าน เราด้วยนะครับ นอกเรื่องมาเยอะละ มาดูวิธีปลูกกันดีกว่า

การปลูกสายหลวง โอโนมานู ปลูกได้ 2 วิธี คือจับลำตั้งขึ้น กับ ปล่อยห้อยหัวลง
๏ สำหรับการจับลำตั้งขึ้นนั้น ผู้ปลูกต้องหมั่นคอยใช้เชือก หรือ ฟิวส์ มัดลำต้นให้ตั้งขี้นครับ หากไม่คอยยึดเป็นจุด ๆ ลำ โอโนมานู จะหักได้ การจำลำตั้งขึ้น มีข้อดีคือ เวลายกไปโชว์ดอก จะดูเป็นระเบียบดี แค่นั้นเองครับ แล้วแต่คนชอบ ครับ

๏ ส่วนการปลูกแบบห้อยหัวลง ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เราก็ปลูกในกระเช้าแล้วปล่อยมันเลื้อยเรื่อยเปื่อยไป หรือจะ ปลูกติดขอนไม้ก็สวยดีครับ การปลูกติดกับขอนไม้ ให้นำขอนไม้แช่น้ำแล้วขัดให้สะอาดเพื่อกำจัดไข่ของแมลง หรือตัว อ่อนแมลงซึ่งอาจจะมากัดกินราก โอโนมานู ของเราในภายหลังได้ครับ เมื่อมั่นใจว่าสะอาดดีแล้ว ให้นำ กาบมะพร้าว ที่แช่น้ำไว้แล้ว 1-2 คืน มาวางขั้นกลางระหว่าง ขอนไม้กับ โอโนมานู แล้วจับกล้วยไม้ของเรา มัดกับขอนไม้ให้แน่น กาบมะพร้าวจะคอยเป็นเครื่องปลูกที่ช่วยเพิ่มความชื้นทำให้กล้วยไม้ของเราโตเร็วขึ้นครับ และเมื่อทิ้งไปนาน ๆ กาบ มะพร้าวจะผุเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยอีกด้วย
**เครื่องปลูกสำหรับ โอโนมานู ในกระเช้า ควรประกอบไปด้วย ถ่าน 60% กาบมะพร้าวสับ 40% หรือ จะสลับมาก น้อย ยังไงก็ได้ครับ แล้วแต่ชอบ หวายตัวนี้เลี้ยงไม่ยาก ขออย่าปลูกลงดินเป็นอันใช้ได้ครับ !
** โอโนมานู ชอบแสงประมาณ 50 - 60 % ครับ

เออเอนเธ่ แซนเดอเรียน่า ( Euanthe sanderiana )


เออเอนเธ่ (แวนด้า) แซนเดอเรียน่า
ชื่อวิทย์ศาสตร์ : Euanthe sanderiana. (Reichenbach .f )Schlechter
ชื่อพ้อง Syn.: Vanda sanderiana Rchb . f
                   : Esmeralda sanderiana Reichb .f
     แซนเดอเรียน่า เป็นกล้วยไม้ พันธุ์แท้ที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่ง ของประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีชื่อท้องถิ่นเรียกว่า วาล์ลิง-วาล์ลิง(Waling-Waling) กล้วยไม้ชนิดนี้มีลักษณะเป็น แวนดาใบแบน มีต้นขนาดใหญ่ ดอกใหญ่ กลม หนา สีสรรสวยงาม กล้วยไม้พื้นเมืองของประเทศฟิลิปปินส์ชนิดนี้ ได้ถูกนำมาใช้ผสมและพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้ สกุลแวนดามากที่สุด ชนิดหนึ่งของโลก
     ศาสตราจารย์ เฮนริช จีริชเช่นบาส (Prof. Henrich G. Reichenbach)ได้ตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ ในวารสารพฤกษศาสตร์ชื่อ การ์เดนเนอร์ โครนิเคิล ในปี พ ศ. ๒๔๒๕ เพื่อเป็นเกียรติแก่นาย เฮนรี เอฟ เซนเดอร์ (Henry F. Sander) นักพฤกษศาสตร์และนักกล้วยไม้ที่มีชื่อเสียงแห่งย่าน เซนต์อัลบัล ประเทศอังกฤษ ต่อมา ในปี พ. ศ.๒๔๕๗ ดร.รูด็อฟ เชล็กเตอร์ (Dr.Roif Schlechter) ได้ตั้งชื่อสกุลใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้กับ กล้วยไม้แซนเดอเรียน่า คือชื่อสกุล เออเอนเธ่ (Euanthe) ซึ่งได้ประกาศตีพิมพ์ลงในวารสารกล้วยไม้เยอรมัน ชื่อ Die Orhideen และได้ย้ายกล้วยไม้แซนเดอเรียน่า จากสกุลแวนดา ไปยัง สกุลใหม่นี้เนื่องด้วย ลักษณะของกลีบปาก ซึ่งไม่มีเดือย ซึ่งสามารถแยกออก จากกล้วยไม้สกุลแวนดาได้อย่างเด่นชัด

     แซนเดอเรียน่า เป็น กล้วยไม้ รูปทรงแบบแวนดา มีความสูงของต้นได้ถึงหนึ่งเมตร ลำต้นตั้งตรง มีการเจริญเติบโตทางยอด ใบออกสลับซ้ายขวาเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ใบแบนยาวประมาณ ๔o ซม. กว้าง ๓ ซม .ที่ปลายใบเป็นรอยหยักแหว่งคล้ายรอยโดนแมลงกัด ก้านดอกตั้งตรง มีจำนวนดอกได้มากถึงสิบดอก ในต้นที่สมบูรณ์ แต่ละดอกรูปทรงกลม มีขนาดส้นผ่านศูนย์กลางของทั้งดอกกว้างประมาณ ๑o ซม. กลีบดอกนอกบนและกลีบดอกด้านในสองกลีบ มีขนาดยาวประมาณ๗ ซม .กว้าง ๕.๕ ซม. มีสีชมพูอ่อน และมีแต้มจุดกระสีน้ำตาล อยู่ช่วงกึ่งกลางดอก กลีบนอกด้านล่าง สองกลีบ มีขนาด กว้าง ๖.๕ซม .ยาว ประมาณ ๗ ซม . กลีบล่างมีสีน้ำตาลอมแดง มีลายเส้นในพื้นดอก ส่วนกลีบปากมีสีม่วงอมน้ำตาลเข้ม มีสันนูน๓สันที่กลางกลีบปาก มีขนาด กว้างประมาณ๑.๗๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม . ใต้ส่วนกลีบปากไม่มีเดือยอันเป็นจุดที่ใช้แยกกล้วยไม้สกุลนี้ออกจากแวนดา จุดนี้สามารถใช้สังเกต กล้วยไม้แซนเดอเรียน่า พันธุ์แท้เพื่อแยกออกจากแวนดา ลูกผสมที่มีสายเลือดของ

กล้วยไม้แซนเดอเรียน่าได้อีกด้วย

     แซนเดอเรียน่า เป็น กล้วยไม้ หายากเฉพาะถิ่นของประเทศ ฟิลิปปินส์ พบบนคาคบไม้ในป่าระดับความสูงปรกติถึง๕oo เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยพบมากในเกาะมินดาเนา ในบริเวณที่เรียกว่า โคโตบาโตเหนือ โคโตบาโตใต้ ดาเวาเหนือ ดาเวาใต้ ซัมโบอังกาเหนือ และซัมโบอังกาใต้ (North and South Cotoba, Davao del Notre, Davao del Sur, Zamboanga del Notre, Zamboanga del Sur.)

     เนื่องด้วยความงดงามของ กล้วยไม้ ชนิดนี้ ซึ่งได้รับการยกย่อง ให้เป็นราชินีแห่งกล้วยไม้ฟิลิปปินส์ และได้ถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ ของสมาคมกล้วยไม้ฟิลิปปินส์ด้วย ในธรรมชาติจะมีดอกในช่วงเดือน กรกฎาคม - เดือนตุลาคม ดอกบานทนประมาณ๓-๔ สัปดาห์ หรืออาจมากกว่านั้น แม้ว่าจะบานในช่วงฤดูมรสุม ที่มีฝนตกชุกก็ตาม ทุกๆปีในช่วงเวลาดังกล่าว ทางสมาคม กล้วยไม้ฟิลิปปินส์ จึงได้จัดงานประกวด กล้วยไม้ ประจำปีช่วงกลางปี ในราวๆเดือนสิงหาคม พร้อมทั้งมีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกล้วยไม้ เพื่อให้พร้อมรับ กับการบานของ ดอกกล้วยไม้ แซนเดอเรียน่า

     ในหนังสือ “กล้วยไม้ของฟิลิปปินส์” ของ จิม คูเตส Jim Cootes (1991) ได้เขียนไว้ว่า ‘ วงการกล้วยไม้ของโลกได้พัฒนาความก้าวหน้าในการผสมและพัฒนาสายพันธุ์ กล้วยไม้ แซนเดอเรียน่า ที่หายาก ทั้งแบบปรกติที่มีสีชมพู และแบบต้นเผือก ที่มีสีขาวเขียว ซึ่งพบได้ยากมากในธรรมชาติ โดยความสามารถและ ฝีมือในการพัฒนาสายพันธุ์ ของนัก กล้วยไม้ ชาวฮาวายและชาวไทย’ กล้วยไม้ แซนเดอเรียน่า สามารถปลูกได้ แม้ว่าอุณภูมิจะลดต่ำลงถึง ๑๕ องศาเซลเซียส ยิ่งไปกว่านั้น กล้วยไม้ชนิดนี้ ได้ถูกทำการขยายพันธุ์จากห้องแล็ป และเพาะเลี้ยงกันเป็นอย่างมาก จากสวนกล้วยไม้ในมินดาเนา หลังจากที่ กล้วยไม้ชนิดนี้ได้ถูกขึ้นทะเบียน จัดเป็นกล้วยไม้ที่เสี่ยงอยู่ใน ภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์ 

ลิ้นมังกร, ปัดแดง Habenaria rhodocheila


กล้วยไม้ลิ้นมังกร (Habenaria rhodocheila) จัดอยู่ในวงศ์ย่อยของ Habenaria ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลเดียวที่เรามักจะพบ ลิ้นมังกร หรือ ปัดแดง บานสะพรั่งอยู่ตามบริเวณโขดหินใกล้ ๆ น้ำตก ด้วยเสน่ห์ของสีสันอันหลากสี ทั้งสีเหลือง สีส้ม สีแดง สีชมพู ไปจนกระทั่งสีโทนอ่อนเกือบจะเป็นสีขาว มันจึงเป็นกล้วยไม้ที่มีเสน่ห์แสนเย้ายวน
     ในฤดูแล้ง ลิ้นมังกร จะพักหัวของมันและคอยกักเก็บตุนสารอาหารไว้จนกระทั่งถึงฤดูกาลให้ดอกอีกครั้งในฤดูฝนต่อไป ในระหว่างพักตัวนี้ท่านที่เลี้ยง ลิ้นมังกร อยู่ อย่าพลั้งเผลอเข้าใจผิดทิ้งกระถางไปเสียนะครับ ไม่เช่นนั้น ลิ้นมังกร คงจากไปไม่รู้ลืมแน่ ๆ เชียว !
      ในบรรดา ลิ้นมังกร หลากหลายสี มีจำนวนหนึ่งที่มีรูปร่างของทรงต้นและลักษณะดอกที่แตกต่างออกไป เจ้า ลิ้นมังกร ประหลาดนี้ จะมีลักษณะของสีสันที่ต่างออกไป รวมไปถึงลักษณะ ดอกที่พิลึกกึกกือผ่าเหล่าไปจากพวกพ้อง ลิ้นมังกร ชนิดนี้มีชื่อในท้องถิ่นว่า ว่านยานกเว้ เป็น ลิ้นมังกร ที่อยู่ทางภาค ใต้ของเรานี่เองครับ ใบของ ว่านยานกเว้ จะต่างไปจาก ลิ้นมังกร ทั่ว ๆ ไปคือ มีลายจุด ในขณะที่ชนิดอื่นที่เราพบเห็นทั่ว ไปจะมีใบสีเขียวล้วน นอกจากนี้ดอกของ ว่านยานกเว้ ยังมีขนาดใหญ่กว่า ลิ้นมังกร ทั่วไปอีกด้วย !

การปลูกกล้วยไม้ลิ้นมังกร
สำหรับการปลูก ลิ้นมังกร นั้น นิยมใช้กระถางขนาดพอดีไม่ใหญ่เกินไป หากจำนวนหัวน้อยให้ปลูกลงในกระถาง เล็ก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้หัว ลิ้นมังกร เน่าครับ เครื่องปลูกจะประกอบไปด้วย ทราย และกาบมะพร้าว หรือจะใช้ขี้เถ้าแกลบ ผสมลงไปด้วยก็ได้ครับ เน้นเครื่องปลูกให้โปร่ง ระบายน้ำได้ดี หากน้ำขัง หัวของ ลิ้นมังกร จะเน่าและตายในที่สุดครับ กระถางที่ปลูก ลิ้นมังกร ควรอยู่ในร่มรำไร ไม่ควรให้ถูกแดดแรง ๆ ลิ้นมังกร ชอบร่มรำไรประมาณ 40 - 60 % ครับ
     การขยายพันธุ์ ทำได้โดย 2 วิธี คือการแยกหน่อ หรือ หัวของ ลิ้นมังกร หรือ ด้วยการเพาะเมล็ดสำหรับการเพาะ เมล็ดนั้น ได้มีผู้บอกต่อกันไว้ หากนำเมล็ดของ ลิ้นมังกร เคาะลงบนเครื่องปลูกที่ปลูก ลิ้นมังกร อยู่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะ มี ลิ้นมังกร ต้นใหม่งอกขึ้นจากเมล็ดที่เราได้เคาะลงไปนั่นเองครับ ลองทำกันดูนะครับ


สำหรับวิธีการผสมเกสร กล้วยไม้ลิ้นมังกร ทำได้ดังต่อไปนี้ได้เลยครับ
1. หาไม้จิ้มฟันสะอาด ๆ หน่อยนะครับ มาไว้จิ้มเส้าเกสรตัวผู้
2. นำไม้จิ้มฟันที่หามาได้ เขี่ยบริเวณ หมายเลข 1 ในภาพครับ หากเขี่ยถูกเราจะได้เส้นอะไรบางอย่างยาว ๆ ติดไม้จิ้มฟันเรามา นั่นละครับ เส้าเกสรตัวผู้เขาละ (หมายเลข 2 นะครับ)
3. นำเส้าเกสรตัวผู้นี้ ถู ๆ ลงบน หมายเลข 3 ครับ ให้มีผงติดเยอะ ๆ หน่อย เท่านี้ ลิ้นมังกร ของเราก็พร้อมอุ้มท้อง เป็นแม่ไม้แล้วครับ

เอื้องโมก และ เอื้องโมกพรุ


     หากกล่าวถึง คำว่า ใบกลม หรือ terete ในภาษาอังกฤษแล้ว ในแวด วงกล้วยไม้ มีความหมาย ถึงลักษณะของใบกล้วยไม้รูปร่างกลมยาวเป็นรูปทรงกระบอก ที่เมื่อตัดขวางใบแล้ว รอยตัดมีลักษณะกลม กล้วยไม้ใบกลมที่ดอกสวยงามที่มีลักษณะเด่นที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ เอื้องโมก (Vanda teres syn. Papilionanthe teres) และ เอื้องโมกพรุ (Vanda hookeriana syn. Papilionanthe hookeriana)
     เอื้องโมก เป็นกล้วยไม้ใบกลมพันธุ์แท้ที่สวยงาม มีถิ่นกระจายพันธุ์ตั้งแต่ เชิงเขาทางด้านใต้ของภูมิภาค หิมาลัย กระจายพันธุ์ ลงมาถึงประเทศเมียนมาร์และไทยถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ Sylhet .ในช่วงปี คศ. ๑๘oo โดย ดร. นาทาเนล วาลิช (Nathaniel Wallich) แห่งสวนพฤกษศาสตร์ กัลกัตต้า ประเทศอินเดีย (๑๘๑๕-๑๘๔๑)โดยในช่วงนั้นดร. วาลิช ได้เดินทางเก็บตัวอย่าง พันธุ์พืชหลายชนิดรวมถึง เอื้องโมก จากประเทศเนปาล
     ต่อมาเขาได้นำ เอื้องโมก กลับไปปลูกที่ประเทศอังกฤษ ในปี คศ . ๑๘๒๙ และต่อมาได้ออกดอกในปี คศ. ๑๘๓๓. และภายหลังนาย จอห์น ลินเลย์ (John Lindley) นักพฤกษศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษได้ศึกษาและจำแนกชนิดพันธุ์ เอื้องโมก จากตัวอย่างแห้งที่เก็บโดย ดร. วาลิช และลงตีพิมพ์ลงในวารสาร พฤกษศาสตร์ ชื่อ Genera and species of Orchidaceous Plants จนกระทั่ง ในปี คศ . ๑๙๗๔ . นาง เลสลี่ การ์เร่ (Leslie Garay) ได้เปลื่ยนชื่อสกุลของ เอื้องโมก จากสกุลแวนด้า มาใช้ชื่อสกุล ปาปิลิโอเนนเท (Papilionanthe) ซึ่งชื่อสกุล ปาปิลิโอเนนเท นี้เป็นชื่อเดิมที่ได้ถูกตั้งชื่อใช้เรียกขึ้นมาก่อนแล้ว โดยนาย ฟรายดริช ริชาร์ด รูดอฟ ชเล็คเตอร์(Friedrich Richard Rudolf Schlecter) นักพฤกษศาสตร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ ชาวเยอรมัน



     ทุกๆวันนี้ กล้วยไม้สกุล เอื้องโมก จะถูกจำแนกชนิดด้วยลักษณะใบที่กลมมน ซึ่งเป็นที่ยึดถือ ของบรรดานักพฤกษศาสตร์ส่วนใหญ่ ภายหลัง ได้ถูกพิจารณาแบ่งแยกกล้วยไม้สกุลนี้ ออกมาจาก กล้วยไม้สกุลแวนด้า
     เอื้องโมก เป็นกล้วยไม้ที่มีต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ชอบขึ้นทอดลำต้นเลื้อยขึ้นไปตามต้นไม้ขนาดใหญ่ กล้วยไม้ที่ชอบแสงแดดจัดชนิดนี้ อาจมีลำต้นสูงได้หลายเมตร แตกกอและหน่อแขนงได้ง่าย มีลักษณะต้นและใบ กลม เรียวเล็ก ตั้งตรง หรือ อาจโค้งได้ ในบางครั้ง เอื้องโมก จะแทงตาดอกออกตามข้อ ลำต้นช่วงข้อที่ใกล้กับส่วนยอดของต้น ดอกมีขนาดใหญ่ประมาณ ๔ นิ้ว ในช่อมีดอกได้มากจำนวน ๓-๕ ดอก กลีบดอกสีชมพูขาว กลีบปากมีสีชมพู ที่หายากคือชนิดที่กลีบดอกสีชมพู แต่มีส่วนของกลีบปากสีเหลืองสด และจำนวนน้อยมากที่พบ ลักษณะกลีบดอกและปากสีขาวล้วนทั้งหมด
     โดยธรรมชาติ ในป่าเขตร้อน เอื้องโมก จะออกดอกได้ไม่เป็นฤดู และสามารถแทงดอกได้บ่อยครั้งต่อปี แล้วแต่แหล่งที่มาของ เอื้องโมก แต่ในสภาพ กึ่งเขตร้อน หรือในสภาพ การปลูกเลี้ยง ทั่วไป เอื้องโมก สามารถออกดอกได้ ๑-๒ ครั้ง ต่อปี ในช่วงเดือน มีนาคม –สิงหาคม

เอื้องโมกพรุ (Phapilionanthe hookeriana ชื่อพ้องเดิม=.Vanda hookeriana)


     เอื้องโมกพรุ เป็นกล้วยไม้ที่พบขึ้น ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ในบริเวณแหลมสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และภูมิภาคมาเลเซีย-แพนนิซูล่า นายโธมัส ล็อป และ นายฮัค โล ( Thosmas Lobb & Hugh Low )ได้เก็บตัวอย่างสายพันธุ์ เอื้องโมกพรุ ครั้งแรก จากเกาะบอร์เนียว ได้นำมาปลูกเลี้ยงและส่งต่อมายัง สวนพฤกษศาสตร์หลวง คิว แห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) Royal Botanic Garden Kew โดยนายเฮช จี ริชเชนบิช (H. G.Reichenbach)ได้ศึกษาและ จำแนกชนิดพันธุ์ กล้วยไม้ชนิดนี้โดยในครั้งแรก ได้ถูกจัดให้ อยู่ในสกุล แวนด้า เช่นเดียวกับเอื้องโมก ต่อมาในภายหลัง หลังจากได้มีการศึกษาค้นคว้า อย่างละเอียด กล้วยไม้ชนิดนี้ ก็ถูกจัดให้กลับไปอยู่ในสกุล ปาปิลิโอเนนเท่ เช่นเดียวกับ เอื้องโมก ซึ่งชื่อสกุล Papilionanthe (Papilio แปลว่า ผี้เสื้อ- nanthe = ดูคล้าย) ชื่อสกุลนี้มาจากรากศัพท์ ภาษาละตินสองคำ มีหมายความถึงลักษณะของดอกที่ดูคล้ายผีเสื้อนั่นเอง
     ลักษณะภายนอกทั่วไป ลักษณะต้นคล้ายกันกับ เอื้องโมก ทุกประการ แต่ลำต้นและใบจะผอมบางกว่าเล็กน้อย ปลายใบมีรอยหยักคอดแหลมลักษณะคล้ายตะขอ อันเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ โดยคำว่าฮุกเคอเรียน่า หมายความถึงลักษณะปลายใบที่หยักแหลมคล้ายตะขอ
     ในธรรมชาติ เอื้องโมกพรุ สามารถเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมีลำต้นที่สูงมาก ฤดูออกดอกอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ในธรรมชาติ ก็พบได้ว่า เอื้องโมกพรุ ออกดอกได้ไม่เป็นฤดู ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ก้านดอกออกตามข้อของลำต้นในบริเวณใกล้ส่วนยอดของต้น ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ นิ้ว ในช่อมีจำนวนดอก๒-๔ ดอก กลีบดอกกลม สีโทน ชมพูอ่อน กลีบปากขนาดใหญ่กว้าง มีแต้มสีม่วงแดงเข้มชัดเจน

สายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสม ในกลุ่มสกุลเอื้องโมก 
รูปภาพ : vanda miss joaquim from singapore's national flower © kenyee
     รีเนนเทนด้า มอร์เจนรูท (Renantanda Morgenrood) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมในกลุ่มสกุล เอื้องโมก ชนิดแรกเป็นคู่ผสมระหว่าง เอื้องโมก กับ รีเนนเทอร่า สตอริไอ(V.teres x Renanthera storei) จากเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ ในปี คศ. ๑๘๕๖. ผู้ขอจดทะเบียนคือ โจเซฟฟิน เวนบริโร (J.van Brero) อย่างไรก็ตามลูกผสมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่าง กว้างขวาง ได้แก่ แวนด้ามิสโจคิม (V. Miss Joaquim) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก กับ เอื้องโมกพรุ( (V.teres x V.hookeriana) นายริดเลย์ (H.N.Ridley) ได้เป็นผู้ขอจดทะเบียนตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ในปี ค ศ.๑๘๙๓. ซึ่งกล้วยไม้ลูกผสมชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในการปลูกประดับตกแต่งประดับสวนเขตร้อน และดอกยังนิยมใช้ทำพวงมาลัยแบบฮาวาย และใช้ในการประดับตกแต่งอื่นๆทั่วไปอีกด้วย
     แวนด้ามิสโจคิม ได้ถูกนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผสมเพื่อสร้างสรรค์กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆ ไม่ต่ำกว่า๘๕สายพันธุ์ลูกผสมใหม่ที่มีสายเลือดมิสโจคิม หนึ่งในจำนวนนั้นอาทิเช่น แวนด้า เมิอร์ แอล เวลทุยส์ (Vanda Merr L.Velthuis) ซึ่งได้ถูกนำผสมใช้ผสมต่อในชั้นหลังๆ จนได้ลูกผสมมากมายที่จดทะเบียนตั้งชื่อใหม่ถึง ๔o ชนิด
     เอื้องโมกพรุ ก็ได้ นำมาผสมข้ามชนิดข้ามสกุล จนได้ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆประมาณ ๒๕ ชนิด หลังจาก แวนด้ามิสโจคิม ยังมีกล้วยไม้ลูกผสมสายเลือด เอื้องโมกพรุ ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันดี อีกเช่น แวนด้า คูเปอรี (V. Cooperi) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมกพรุ กับ แวนด้ามิสโจคิม (V.hookeriana x V.Miss Joaqium) ได้จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นกล้วยไม้ลูกผสม ชนิดใหม่ ในปี ค ศ . ๑๘๙๓.
     เอื้องโมก ก็ได้ถูกนำมาใช้ผสม และได้ ลูกผสมชนิดใหม่ๆมากกว่า ๘o ชนิด ลูกผสม เอื้องโมก ที่นับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ โจเซฟฟิน แวน บริวโร ( V.Josephine van Brero) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก และแวนด้า อินซิกเน่ จากประเทศอินโดนีซีย (V.teres x V. insigne) กล้วยไม้ลูกผสม เอื้องโมก ชนิดนี้ได้จดทะเบียน ตั้งชื่อเป็นกลวยไม้ชนิดใหม่ เมื่อปี ค ศ. ๑๙๓๖ . จากลักษะเด่นของกลีบดอกสีม่วงชมพู กลีบปากสีส้มแดงเข้ม ลูกผสมชนิดนี้ได้ถูกนำมาใช้ เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อสร้างสรรค์ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดใหม่ๆ ต่อเนื่องขึ้นมาอีก ไม่ต่ำกว่า ๑๒o ชนิด
     ลูกผสมอีกชนิดของ เอื้องโมก เช่น แวนด้า เอ็มมา แวน ดีเวนเตอร์ (V. Emma van Deventer) เป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องโมก และแวนด้า ไตรคัลเลอร์ จากประเทศอินโดนีเซีย (V.teres x V. tricolor) จดทะเบียนตั้งชื่อเป็นลูกผสมชนิดใหม่โดยนาย แวน ดีเวนเตอร์ ในปี ค ศ . ๑๙๒๖ กล้วยไม้ลูกผสมชนิดนี้ได้ใช้เป็นพ่อแม่ในการผสมครั้งต่อมา และกล้วยไม้ลูกผสมใหม่ๆเกิดขึ้นมากว่า ๔o ชนิด รวมถึง แวนด้า แนลลี่ มอร์เลย์ ( V. Nellie Morley ) ซึ่งได้รับรางวัล เกียรตินิยมจากสมาคมกล้วยไม้อเมริกัน มากกว่า ๕๘ รางวัล ลูกผสม เอื้องโมก ต่างๆเหล่านี้ ได้ปลูกเลี้ยงและใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม กล้วยไม้ตัดดอก อย่างแพร่หลาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การปลูกเลี้ยง เอื้องโมก และ เอื้องโมกพรุ
รูปภาพ : แปลงปลูก เอื้องโมกพรุ © lenkline
     แสง : กล้วยไม้แวนด้าใบกลม และแวนด้าใบร่องลูกผสม เกือบทุกชนิด ชอบแสงแดดจัด เป็นปัจจัย ให้ผล ถึงนิสัยที่ออกดอกได้ตลอดปีแล้ว ในการออกดอกแต่ละครั้งยังให้ดอกจำนวนมาก ในแต่ละช่อได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับสภาพแวดล้อมให้นำเข้ามาปลูกในโรงเรือน หรือปลูกในอาคารในสถานที่เลี้ยงที่ต้องอาศัยแสงจากหลอดไฟ เช่นทาง ประเทศแถบยุโรปและเอมริกาเหนือ
     น้ำและความชื้น : กล้วยไม้ กลุ่มนี้ ชอบน้ำและความชื้นที่มากพอเพียง รดน้ำให้ชุ่มโชกวันละครั้ง ตอนเช้าเมื่อแสงแดดยังไม่จัด หากในช่วงที่อากาศแห้งมาก สามารถ เพิ่มการรดน้ำในช่วงค่ำได้อีกครั้ง และควรงดเว้นการให้น้ำในช่วงเวลาที่มีแสงแดดจัด และควรจัดปลูกให้ภาชนะที่มีการระบายอากาศเพราะกล้วยไม้กลุ่มนี้เป็นกล้วยไม้ รากอากาศที่ชอบการระบายน้ำดี หาก เครื่องปลูกแฉะ เกินไปอาจทำให้เกิดอาการ รากเน่าได้
     ปุ๋ย : กล้วยไม้กลุ่มนี้มักชอบให้ใช้ปุ๋ยบ่อยครั้ง เหมาะกับให้ปุ๋ยเป็นประจำและสม่ำเสมอ ทุกสัปดาห์ ใช้ปุ๋ยเกร็ด ละลายน้ำ สตูรเสมอ 21-21-21 ฉีดพ่นบำรุงต้น ตามอัตราส่วนที่ระบุข้างฉลากของภาชนะที่บรรจุ อาจเสริมการให้ปุ๋ย สูตร ตัวกลางและตัวท้ายสูงในช่วงระยะที่กล้วยไม้อยู่ในช่วงฤดูออกดอก
     ภาชนะ : กล้วยไม้ชนิดนี้มักปลูกในกระถางดินเผา กระเช้าไม้สักแขวน หรือปลูกติดเสา ติดหลักไม้ วัสดุปลูกใช้ กาบมะพร้าว ถ่าน หรือ หินภูเขาไฟ กล้วยไม้กลุ่ม เอื้องโมก และลูกผสมนี้สามารถ ปลูกประดับ ตกแต่ง ในบริเวณสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อม ของภูมิอากาศ แบบเขตร้อน ชื้น หรือ กึ่งร้อนชื้น โดยสามารถปลูกเป็นแนวรั้ว ปลูกเป็นกลุ่มๆ ปลูกรวมกันในภาชนะขนาดใหญ่ หรือปลูกลงแปลงได้ซึ่งเราจะได้ชื่นชมกับดอกสีสันสดใส ที่ออกได้บ่อยครั้งและบานทนนานกว่ากล้วยไม้กลางแจ้งชนิดอื่นๆ ซึ่ง สามารถ สร้างสรรค์บรรยากาศของสวนเขตร้อนให้กับสถานที่ของคุณได้เป็นอย่างดี 

เอื้อง เขากวางอ่อน ( Phalaenopsis cornu-cervi )


เขากวางอ่อน เป็นสกุลย่อยของ Phalaenopsis เป็นกล้วยไม้ที่พบได้ตามป่าธรรมชาติในพืนแผ่นดินบ้านเราแทบทุกภาค มีเขตกระจายพันธุ์เกือบทุกภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่ประเทศ อินเดีย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปิน และ เกาะสุมาตรา ซึ่งแต่ละชนิดที่พบตามประเทศต่าง ๆ นั้นล้วนมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ที่ค้นพบ
ลักษณะทั่วไป เขากวางอ่อน เป็นกล้วยไม้ที่ให้ดอกทุกฤดูกาล โดยเฉพาะฤดู ร้อนและฤดูฝน จะเป็นฤดูที่ เขากวางอ่อน ให้ดอกมากที่สุด ส่วนในฤดูหนาวมักพบว่า เขากวางอ่อน จะให้ดอกน้อย หรือ ไม่ให้ดอกเลย ในธรรมชาติ พบว่า กล้วยไม้ชนิดนี้มักขึ้นบริเวณคาคบไม้ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200 - 1000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ชอบแสงรำไร และมีความชื้นรวมไปถึงบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ลักษณะดอก เขากวางอ่อน นับว่าเป็นกล้วยไม้ที่มีสีสันของดอกหลากหลายอีกชนิดหนึ่ง ดอกของ เขากวางอ่อน นั้น พบได้ตั้งแต่มีลวดลายสีแดง ขีดพาดไปมาคล้ายลายของเสือโคร่ง ไปจนถึง สีเหลืองสนิด บางต้น มีลักษณะดอกแบบทูโทน กึ่งสองสี และบางต้น ก็มีสีแดงทั่วทั้งพื้นดอกซึ่งเป็นลักษณะพิเศษใช้ชื่อว่า เขากวางแดง ฟอร์ม ฉัตรดา เราลองไปดูภาพเขากวางแดง สีต่าง ๆ กันครับ

การปลูกเลี้ยง เอื้อง เขากวางอ่อน 
ในการปลูก เขากวางอ่อน นั้น สามารถปลูกโดยการนำไปติดกับขอนไม้ วิธีการติดกับขอนไม้นั้นทำได้ดังนี้
1. ล้างขอนไม้ที่จะนำ เขากวางอ่อน ไปติดให้สะอาด
2. ใช้วัสดุรองระหว่างขอนไม้กับ เขากวางอ่อน เช่น กาบมะพร้าว หรือ สเฟกนั่มมอส หรือ รากชายผ้าสีดา ทั้งนี้เพื่อให้วัสดุปลูกเหล่านั้นคอยกักเก็บความชื้นให้กับ เขากวางอ่อน เพื่อให้กล้วยไม้โตเร็วและมีรากที่ สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม **หากติดขอนไม้เพียว ๆ เขากวางอ่อน อาจจะมีต้นที่เล็กและโตช้าได้**
3. มัด เขากวางอ่อน กับขอนไม้ที่ใช้เป็นวัสดุปลูกให้แน่นด้วยเชือกฟางหรืออื่น ๆ แต่อย่าใช้ลวด เนื่องจากเส้นลวด อาจบาดต้นของ เขากวาง ได้ ทำให้เกิดแผลและโรคอื่น ๆ ตามมา หรือตายไปเลย
4. นำกล้วยไม้ที่ปลูกใหม่นี้แขวนไว้ในร่มรำไร อย่าร่มมากเกินไปเช่น ใต้โรงรถยนต์ หรือบริเวณที่ทึบ ควรแขวนอยู่ ในบริเวณที่ที่โปร่ง มีแสงสว่างทอดถึง หรือใต้แสลน 80% เป็นต้น
5. รดน้ำวันละ 1 ครั้ง จะเช้าหรือเย็นแล้วแต่สะดวก หากจะให้ดีควรให้ปุ๋ยเป็นประจำทุก ๆ 1 สัปดาห์จะทำให้ กล้วยไม้ของเรา แข็งแรง สวยงาม มากยิ่งขึ้น
6. รอดูดอกได้เลยครับ อิอิ

***สำหรับกระถางแขวน ทำเช่นเดียวกับการปลูกติดกับขอนไม้ เปลี่ยนเป็นนำวัสดุปลูกรองพื้นในกระถางก่อน แล้วทำตามข้อ 3 ลงมาได้เลยครับ***

สำหรับการดูแลไม้นิ้วและไม้ออกขวดใหม่นั้นทำได้ดังนี้
1. หลังจากออกขวด ควรนำลูกไม้ปลูกลงในตะกร้า โดยมีสเฟกนั่มมอสรองพื้น รดน้ำโดยการพ่นให้เป็นฝอยละ เอียดเพื่อไม่ให้ใบลูกไม้ช้ำ คุมความชื้นให้ดี อย่าให้แฉะเกินไป ลูกไม้อาจจะเน่าตายได้
2. ฉีดพ่นยากันรา 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย การให้ปุ๋ยให้แบบเจือจางอย่าเข้มจนเกินไปเพราะอาจทำให้ ใบของลูกไม้เน่าได้ โดยสลับสูตร ตัวหน้าสูง กลางสูง สลับสัปดาห์ ให้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง
3. พยายามระวังฝน หากฝนตกถูกลูกไม้โดยตรงกล้วยไม้อาจช้ำและตายได้
4. สำหรับไม้นิ้ว ปฎิบัติเช่นเดียวกันกับไม้ออกขวดครับ 

เอื้องเขาแกะ (Rhynchostylis coelestis)

เขาแกะ (Rhynchostylis coelestis)
     ในพื้นที่ป่าโปร่งผลัดใบคงไม่มีเอื้องชนิดไหนที่มีความงามเทียบเท่ากับ เขาแกะ กล้วยไม้สกุลช้าง(Rhynchostylis)อีกแล้วก็เป็นได้ครับ
     เช่นเดียวกับรองเท้านารีที่ถูกเรียกชื่อตามรูปลักษณ์ดอกอันแสนแปลกของมัน เขาแกะ เองก็เป็นหนึ่งในกล้วยไม้ที่ถูกเรียกชื่อตามลักษณะที่พบเห็น เพียงแต่ เขาแกะ ไม่ได้ถูกตั้งชื่อเพราะดอกเหมือนเขาของแกะ แต่เป็นเพราะใบที่โค้งงอสลับกันไปมาซ้ายขวาที่เหมือนเขาของของแกะเอื้องชนิดนี้เลยได้รับฉายาว่า เขาแกะ ไปโดยไม่รู้ตัว
     ชื่อวิทยาศาสตร์ของ เขาแกะ คือ Rhynchostylis coelestis มันเป็นกล้วยไม้สกุลช้างอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ในบ้านเรา เขาแกะ ในธรรมชาติเรามักพบ เขาแกะ ได้ทั่วไปบนคาคบไม้เตี้ย-สูงในป่าโปร่งร้อน เขาแกะ นับได้ว่าเป็นกล้วยไม้ที่ทนร้อนได้อย่างสุด ๆ ครั้งหนึ่งผมได้เดินทางไปยังต่างอำเภออันแร้นแค้น ป่าไม้เป็นป่าโปร่งผลัดใบแม้แต่หญ้าบนพื้นก็แห้งเหี่ยว มีต้นไม้ยืนต้นตายหลายต่อหลายต้น
แต่เมื่อมองขึ้นบนยอดไม้ที่ยังพอมีชีวิตหลงเหลืออยู่บ้างก็พบกับเจ้า เขาแกะ ยืนต้นท้าแสงแดดอันร้อนระอุอย่างไม่สะทกสะท้าน ผมมั่นใจมากว่า เขาแกะ ที่ผมเห็นในตอนนี้ต้องตายในไม่ช้า แต่สองปีให้หลังผมก็ได้เดินทางไปยังป่าแห่งนี้อีกครั้ง และเดินไปยังโคนต้นไม้ต้นเดิมแล้วเงยหน้าขึ้น มันน่าตกใจจริง ๆ ครับ เขาแกะ ต้นเดิมกลับแตกหน่อมีดอกบานสะพรั่งสวยงามจนน่าตกใจ และเมื่อลองเดินสำรวจป่าระแวกนี้ดูผมก็พบว่ามี เขาแกะ น้อยใหญ่เติบโตขึ้นบนกิ่งไม้ที่ถูกแดดฟาดอย่างจังอย่างน่าตกใจ นับได้ว่า เขาแกะ เป็นราชาทนร้อนของจริงเลยละครับ
     ในทางภาคเหนือ เราอาจจะได้ยินคำว่า เอื้องขี้หมา จนติดหู มันเป็นชื่อเรียกของ เขาแกะ อีกชื่อที่เราอาจไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ เขาแกะ ยังมีชื่อเล่นอื่น ๆ อีกว่า เอื้องเขาควาย แล้วยังได้รับฉายาเป็นชื่อแบบอินเตอร์อีกด้วยว่า Blue Foxtail แปลได้เท่ ๆ ว่า จิ้งจอกหางน้ำเงิน
     ด้วยลักษณะของช่อที่ตั้งยาวขึ้น เขาแกะ จึงเป็นที่นิยมไม่น้อยในหมู่นักพัฒนากล้วยไม้ทั้งไทยและนอก เขาแกะ ถูกนำไปผสมกับกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์เช่น แวนดา เข็ม และไม่แน่ว่าบางครั้งเราอาจพบกับลูกผสมของ เขาแกะ ตั้งตระหง่านสวยงามอยู่ตรงหน้าโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้


♠ ภาพ เขาแกะแดง ต้นชิเนนทร
ลักษณะทั่วไปของ เขาแกะ
ลำต้น เขาแกะ มีรูปทรงใบเป็นรูปทรงกระบอก ค่อนข้างเตี้ย ตั้งตรง เจริญเติบโตทางยอด
ใบ ออกเรียงสลับซ้ายขวา โคนใบเป็นแผงชิดกันแน่น ปลายใบโค้งลงเล็กน้อย มองดูคล้าย เขาแกะ หรือเขาควาย แผ่นใบบางและเหนียวห่อเข้าหากัน ยาว 10-15 เซนติเมตร
ดอก เป็นช่อตั้งตรง ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกเบียดกันแน่น ขนาดดอกราว 1.5-2.0 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงบนรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปไข่กลับ กลีบดอกรูปขนานแกมรูปไข่ กลีบทั้ง 5 กลีบมีสีขาว ขอบกลีบมีขลิบเป็นสีม่วงคราม บางต้นอาจมีสีออกไปทางแดง หรือไปทางสีน้ำเงินก็มี ปลายกลีบมน กลีบปากรูปลิ่ม มีเดือย ดอกแบนและปลายโค้งลง ดอกบานทนนาน ประมาณ 2 สัปดาห์ และมีกลิ่นหอม ช่วงเวลาที่ออกดอก คือฤดูร้อน ระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
แหล่งกระจายพันธุ์ เขาแกะ มีแหล่งกระจายพันธุ์บริเวณป่าดิบแล้ง หรือป่าโปร่งผลัดใบในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยพบในทุกภาคยกเว้นภาคใต้


♠ ภาพ เขาแกะบลู ©Toshihiko Shinagawa
เทคนิคการเลี้ยง เขาแกะ- ในการปลูกเลี้ยง เขาแกะ นิยมปลูกเลียนแบบธรรมชาติ เช่นติดกับขอนไม้ ใส่กระเช้า หรือ นำไปติดบนต้นไม้ใหญ่ก็ได้ครับ เขาแกะ เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างชอบแสงแดด ดังนั้นอย่านำไปแขวนไว้บริเวณที่ร่มจัดเกินไปนะครับ เพราะอาจจะไม่ได้ดูดอกและเผลอ ๆ จะเน่าตายได้ครับ เอาละลองดูวิธีปลูกของผมกันดูนะครับ
◇ ก่อนอื่นหากเป็นไม้ดิบ ให้ตัดรากแห้งทิ้งให้หมดครับ
◇ หากใส่กระเช้า ผมแนะนำกระถางพลาสติก 4นิ้ว ขนาดกำลังเหมาะพอดีครับ
◇ หากเป็นขอนไม้ หาขนาดพอเหมาะไม่ต้องใหญ่มาก หากติดต้นไม้....หาจุดเหมาะ ๆ โดยดูทิศทางแสงให้ดีอย่าได้ร่มไปครับ
◇ วิธีใส่ เขาแกะ ลงในกระเช้า 4นิ้ว ให้พยายามเรียงรากลงกระถางให้ได้ครับโดยเราอาจต้องจับสอดทีละเส้นเพื่อให้รากผ่านรูของกระเช้าลงไป พอใส่ได้แล้ว เราอาจจะนำกาบมะพร้าวแช่น้ำแล้ว มาสอดใส่ใต้รากรองไว้ระหว่างกระเช้ากับรากของ เขาแกะ ก็ได้ครับ เพื่อให้ได้รับความชื้นที่เหมาะสมและทำให้รากใหม่แตกเร็วขึ้น
◇ ในกรณีเกาะขอนไม้ ให้เราหาเชือกฟาง ฟิว หรือสายโทรศัพท์ มายึดเขาแกะกับขอนไม้ให้แน่น จัดทรงต้นให้ตั้งขึ้นแล้วใช้ฟิวหรืออุปกรณ์ที่เตรียมไว้ยึดให้ทรงต้นไม่ล้ม หากมั่นคงดีแล้วก็นำไปแขวนในร่มรำไร หรือใต้สแลนพลางแสง รอไม้พักตัวครับ
◇ ระหว่างไม้พักตัว ให้รดน้ำเวลาเดียวเช่นเดียวกับกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ โดยจะเป็นเวลาเช้า หรือ เย็น ให้เพียงเวลาเดียว เวลาไหนก็ได้ครับยกเว้นบ่าย
◇ เมื่อรากเกาะเดินดีแล้ว ถึงแม้จะเป็นไม้ป่าก็ตามก็ควรจะให้ปุ๋ยบ้างเพราะมาอยู่ในเมืองอาหารการกินก็ต้องปรับตามครับ สูตรที่แนะนำคือ 21-21-21 เป็นสูตรเสมอมาตรฐาน ควรฉีดพ่นทุกสัปดาห์ เมื่อถึงเวลาให้ดอก เขาแกะ จะผลิดดอกออกงามประทับใจเราเลยทีเดียว

♠ ภาพ เขาแกะเผือก ©Tommy
กรณีไม้ขวด ไม้เลี้ยง- กล้วยไม้ขวด หรือ ไม้เลี้ยง มักไม่ค่อยมีปัญหามาก ลักษณะการปลูกขึ้นกระเช้าสามารถทำได้เช่นเดียวกับกล้วยไม้ทุกชนิดครับ ในการอนุบาลไม้นิ้ว หรือ ไม้ออกขวดใหม่ เราอาจจะใช้ปุ๋ย ตัวหน้าสูงอย่าง 30-20-10 บำรุงสลับกับ สูตรเสมอ 21-21-21 บ้างเพื่อให้ไม้โตเร็วขึ้นครับ หากใครไม่ทราบว่าต้องหนีบนิ้วลูกไม้อย่างไร ลองอ่านหน้า วิธีการหนีบนิ้วลูกไม้ที่หน้าบทความกล้วยไม้ทั่วไปดูนะครับ 

เอื้องหนวดพราหมณ์ ( Seidenfadenia mitrata )

หนวดพราหมณ์ ( Seidenfadenia mitrata )
     หนวดพราหมณ์ แต่เดิมเป็นกล้วยไม้ที่อยู่ในสกุลของกุหลาบ Aerides และถูกเปลี่ยน เป็นสกุล Seidenfadenia ในภายหลัง
     หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้เพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Seidenfadenia ซึ่งได้รับการตั้งชื่อให้เป็นเกรียติ์แด่ ท่าน Gunnar Seidenfaden ชาวเดนมาร์ก อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และเป็นผู้ทำการศึกษา และตีพิมพ์ผลงานวิชาการเกี่ยวกับ กล้วยไม้ไทยอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผลงานของท่านเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่ง สำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย พืชวงศ์กล้วยไม้ ส่วนคำระบุชนิด mitrata แปลว่าที่สวมศีรษะหรือหมวกทรงสูงสำหรับพระในคริสต์ศาสนา ซึ่งอาจหมายถึงลักษณะโดยรวมของเส้าเกสรที่ดูคล้ายกับที่สวมศรีษะนั่นเองครับ
     ในประเทศไทยเราสามารถพบกล้วยไม้ หนวดพราหมณ์ ได้ในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือ
ป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 350 - 1,500 ม. ด้วยลักษณะของใบที่ห้อยยาวลงมาจากคาคบไม้สูงมองดูราวกับเส้นผมของนักพรตที่สกปรกรุงรังจึงมีเรื่องเล่าอันน่าพิศวงต่อ ๆ กัน ว่ากันว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งที่ตกใจวิ่งออกมาจากป่าภายหลังออกหาเก็บของป่าพร้อมกับเสียงตื่นตระหนกว่าพบกับผีพลายตนหนึ่งในป่ายามพลบค่ำ ชาวบ้านต่างตื่นตกใจเกรงว่าผีพลายจะมาทำร้ายเด็ก ๆ ใน หมู่บ้านจึงได้ปรึกษาและได้ออกตามหาผีพลายตนดังกล่าวเพื่อใช้วิธีทางศัยศาสตร์เข้าจัดการ แต่เมื่อเดินทางไปยังจุดที่เคยพบกับผีพลาย สิ่งที่ชาวบ้านพบมีเพียงต้นไม้ที่หักลง บนตอที่หักโค่นนั่น มีกอ ขนาดใหญ่ของต้นกล้วยไม้ที่กำลังแทงช่ออวดเบ่งดอกขนาดเล็กสีชมพูชูของมันบนก้านช่อทรงสวยงาม ราวกับช่อของดอกไม้ที่ถูกประดับประดาบนแจกันขนาดใหญ่ ใบของดอกไม้มีทรวดทรงยาวยุ้งเหยิง เมื่อถูกลมพัด ใบของมันก็พริ้วไหวไปตามสายลม มองดูราวกับเส้นผมของคนไม่ผิดเพี้ยน ข้อสงสัยเรื่องผีพลายของชาวบ้านจึงถูกไขออก กล้วยไม้ชนิดนี้จึงได้ชื่ออีกนามว่า "เอื้องผมผีพลาย"



นอกจากนี้ หนวดพราหมณ์ ยังมีชื่อตามท้องถิ่นต่าง ๆ อีกว่า เอื้องผมเงือก และ เอื้องกุหลาบสระบุรี ซึ่งก็ได้รับการตั้งชื่อตามความเรื่องเล่าและแหล่งที่พบตามลำดับ
     หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่เลี้ยงง่าย เนื่องจากชอบอากาศร้อนจึงสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ครั้งหนึ่งผมเดินทางไปยังจังหวัดปทุมทานี และได้แวะเข้าไปยังส่วนของ นวนคร พื่นที่ที่ผมได้ไปเยือนส่วนใหญ่เป็นตึกสูงของหอพักเสียส่วนใหญ่ และบนห้องพักของตึกตึกหนึ่งผมก็ได้พับกับ หนวดพราหมณ์ กอสวยที่กำลังออกดอกสวยงาม ซึ่งคาดว่าเจ้าของคงได้นำไปปลูกประดับไว้ตรงบริเวณริมระเบียง น่าเหลือเชื่อ ที่กลางเมืองตึกสูงอากาศร้อนอบอ้าวเพียงนั้น หนวดพราหมณ์ ก็สามารถแตกกอสวยงามได้ นับได้ว่า หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้ที่สามารถเลี้ยงในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและให้ดอกได้อย่างง่ายดายครับ

ลักษณะของ หนวดพราหมณ์
หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยลำต้นยาว 3-5 ซม.รากจำนวนมากออกที่โคนต้น ลักษณะอวบยาวใบจำนวน 3-5ใบ รูปทรงกระบอกยาวสีเขียวเข้ม ปลายเรียวแหลมเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนกว้างสุดประมาณ 0.5 ซม. ยาว 10-40 ซม. ใบของ หนวดพราหมณ์ ห้อยลู่ลงด้านบนเป็นร่องตามยาว
ลักษณะดอกของ หนวดพราหมณ์
หนวดพราหมณ์ ออกดอกเป็นช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ซอกใบช่อตั้งขึ้นก้านช่อยาว 13-20 ซม. ดอกของ หนวดพราหมณ์ เรียงค่อนข้างแน่น มีกลิ่นหอม ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 1.5 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 2 ซม. กลีบเลี้ยงสีขาว ปลายกลีบสีม่วง รูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบดอกสีขาว ขอบกลีบอาจมีสีม่วงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กลีบปากสีม่วงแกมแดง กลางกลีบสีจางกว่า กลีบรูปรีแกมรูปไข่ ปลายกลีบเว้าตื้น โคนกลีบแต่ละข้างมีติ่งขนาดเล็ก ฝาปิดกลุ่มเรณูสีม่วงเข้ม หนวดพราหมณ์ ให้ดอกช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือน เมษายน- พฤษภาคม ดอกของ หนวดพราหมณ์ มีกลิ่นหอม หากปลูกเป็นกอจะส่งกลิ่นหอมโชยพัดตามลมครับ



การปลูกเลี้ยง หนวดพราหมณ์ 
- การปลูก สามารถปลูกโดยการห้อยหัวลง หรือ ทำให้ห้อยลงมาได้ครับ หรือปลูกจับลำตั้งขึ้นก็ได้ครับ
- การรดน้ำ หนวดพราหมณ์ ควรรดเวลาเดียวช่วงเช้าตรู่ หรือ ช่วงเย็น เท่านั้น หนวดพราหมณ์ ที่ปลูกใหม่ ยังไม่ควรให้ถูกแสงแดดจัดมากเกินไปเพราะอาจทำให้ตายได้ครับ
- หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงค่อนข้างมาก เมื่อรากเดินดีแล้วควรค่อย ๆ ขยับเข้าหาแสงแดดบ้าง เช่นถูกแสงแดดช่วงเช้า ๆ หรือ ช่วงเย็นหลัง 4 โมง เป็นต้น แสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้ หนวดพราหมณ์ ได้ปรุงอาหาร สะสมเตรียมไว้สำหรับออกดอกครับ หากไม่ได้รับแสงที่เพียงพอ หนวดพราหมณ์ จะไม่ค่อยให้ดอก หรือ ให้ดอกไม่ดกครับ
- ปุ๋ยสำหรับ หนวดพราหมณ์ ควรให้ทุกสัปดาห์ สูตรปุ๋ยไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เราปลูกครับ แต่ปุ๋ยที่ต้องให้นั้นคือปุ๋ยสูตรเสมอ เพื่อให้ หนวดพราหมณ์ ได้มีอาหารสะสมและแตกกอสวยงามครับ
- หาก หนวดพราหมณ์ ไม่ให้ดอก หรือ ลำต้นแคระแกรน ให้พึงพิจารณาเรื่องแสงครับ
**แต่โดยรวม หนวดพราหมณ์ เป็นกล้วยไม้เลี้ยงง่ายครับ เพียงหมั่นรดน้ำทุกวันก็แตกกอสวยให้ดอกงดงามแล้วครับ แต่หากขยันให้ปุ๋ยเป็นอาหารเสริมด้วยแล้วละก็ หนวดพราหมณ์ จะยิ่งให้ดอกดกขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าเชียว ท่านที่ปลูก หนวดพราหมณ์ ได้อ่านบทความ นี้แล้วได้ผลเช่นไรอย่าลืมนำภาพดอกของ หนวดพราหมณ์ สวย ๆ มาแบ่งกันชมได้ในเว็บบอร์ดนะครับ !

กล้วยไม้ดิน Spathoglottis เรื่องโดย โสภณ พวกอิ่ม


      สปาโตกลอสติส เป็นกล้วยไม้ดินสกุลหนึ่งที่นิยมปลูกเลี้ยงกันอย่าง แพร่หลาย กล้วยไม้สกุลนี้มีจำนวนมากกว่า๔๐ชนิด ( species ) ถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีการแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนเหนือของอินเดีย ศรีลังกา ทางตอนใต้ของจีน มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก กล้วยไม้สกุลนี้มีความสำคัญในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักในวงการกล้วยไม้ทั่ว โลก กล้วยไม้สกุลนี้หลายชนิดมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เช่นเหลืองพิสมร( Spathoglottis lobii ) มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคอิสาน ภาคตะวันออก ขาวพิสมร( Spathoglottis pubescens ) มีถิ่นกำเนิดทาง ภาคอิสาน กล้วยไม้ดินใบหมาก( Spathoglottis plicata ) มี ถิ่นกำเนิดทางภาคใต้
     กล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสนี้ปรกติเราเรียกว่า “กล้วยไม้ดิน” แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงสกุลหนึ่งของกล้วยไม้ดินเท่านั้น ยังมีกล้วยไม้ดิน สกุลอื่นอีกหลายชนิด สปาโตกลอสติส มีการเจริญเติบโตแบบ Sympodial มีลำลูกกล้วยป้อม และมีข้อถี่ๆ ลักษณะใบเป็นใบยาวปลายเรียวแหลมโค้ง นอกจากนี้ยังมีรอยจีบ ตามแนวความยาวของใบคล้ายต้นอ่อนของพวกปาล์ม ช่อดอกออกจากฐานของแกนใบก้านช่อยาวและผอมเรียวมีดอกออกเป็นกลุ่มที่ปลายช่อ กลีบดอก มีขนาดเท่าๆ กัน ดอกบานผึ่งผายหูปากทั้งสองค่อนข้างแคบ และโค้งขึ้นทั้งสองข้าง แผ่นปากจะแคบและมีเขี้ยวเล็กๆ ข้างละอันและส่วนบน ของโคนปากมีปุ่มสองปุ่มอยู่คู่กัน บางชนิดที่ปุ่มจะมีขนปกคลุมที่ปลายแผ่นกลีบ ปากผายกว้างออกและบางชนิด ปลายกลีบปากจะเว้า เส้าเกสรจะผอมด้านปลาย จะกว้างและโค้งลงเล็กน้อย เกสรตัวผู้มีสองชุด ชุดละ ๔เม็ด
     สปาโตกลอสติสเป็นกล้วยไม้ ที่สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี พบว่าต้นที่มีความสมบูรณ์และแข็งแรง ในหนึ่งหัวสามารถ ออกดอกได้๑-๓ ก้านช่อดอกก้านช่อยาว เฉลี่ย ๓๐-๑๒๐ ซม. (ในชนิดพันธุ์ใหญ่) มีดอกประมาณ ๓๐ ดอกขึ้นไป ต่อช่อดอกทยอยบานพร้อมกันเป็นชุดๆ ตั้งแต่๓-๑ๆ ดอก และบานติดต่อกันได้นาน๓-๖ เดือน แล้วแต่ชนิดพันธุ์
พันธุ์และลักษณะประจำพันธุ์ 
      Spathoglottis plicata พันธุ์นี้พบมากทางภาคใต้ของประเทศไทย กลีบนอกทั้งสามกลีบดูคล้ายกัน และกางทำมุมอย่างเป็นระเบียบกลีบดอกคู่ในกว้างกว่ากลีบคู่นอกเล็กน้อยโคนปาก แคบ หูปากทั้งสองข้างแบน และโค้งขึ้นปลายแผ่นปากกว้างส่วนโคนปากมีเขี้ยวสั้นๆข้างละอัน ด้านบน มีติ่งสีเหลืองสองติ่งและมีจุดเล็กๆขึ้นประปราย ที่เขี้ยวทั้งสองข้างมี ขนอ่อนๆ กลีบดอกสีม่วง หูปากทั้งสองข้างมีสีม่วงเข้ม ปุ่มกลางแผ่นปากมี สีเหลือง เนื่องจาก พันธุ์นี้มีความหลากหลายของสีต่างๆมากจึงได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสายพันธุ์ย่อย ต่างๆหลายสายพันธุ์ก็คือ
1 . กลุ่มที่ดอกสีม่วงสด
1.1 var. aureicallus ปุ่มกลางปากทั้งสองปุ่มมีสีม่วงสด หูปากทั้งสองข้าง สีม่วงเหลือบด้วยสีเหลือง
1.2 var. moluccana เป็นพันธุ์ที่มีต้นใหญ่กว่าพันธุ์ธรรมดา ปุ่มที่ปากสีเหลืองเข้ม
2 . กลุ่มที่มีดอกสีขาว
2.1 var. penangwhite หรือเรียกว่าขาวปีนัง ดอกสีขาวบริสุทธิ์ หูปากและปุ่มที่ปากทั้งสองข้าง มีสีเหลืองเข้ม
2.2 var. alba ลักษณะดอกคล้ายกับพันธุ์ธรรมดา แต่ดอกมีสีขาว หูปากทั้งสองข้างสีเหลืองอ่อน ปุ่มที่โคนปาก สีเหลือง
2.3 var. pallidissima แผ่นปากมีสีเหลืองเจือสีม่วงอ่อนๆจน เกือบมองไม่เห็น ปุ่มที่ปากสีเหลือง เข้ม หูปากทั้ง สองข้าง สีเหลืองจางมาก กลีบดอกกลีบในปลายเรียวแหลม
3. กลุ่มสีม่วงอ่อนหรือสีชมพู
3.1 var. vieillardii เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นใหญ่โตมาก ช่อดอกยาว กลีบดอกสีม่วงชมพูจางๆ หูปากทั้งสองข้างสีส้ม ปนน้ำตาล ปุ่มปากทั้งสองข้างสีเหลืองสดมีประจุดเล็กๆสีส้มเข้มแผ่นปากหักงอชัดเจน และปลายปากสีส้ม เข้มเท่ากลีบดอก
3.2 var.purpureolobus ทรงต้นใหญ่โตเหมือนพันธุ์แรกแต่กลีบดอกสีม่วงเข้มกว่า หูปากสีม่วงเข้มปุ่มที่ปากสี เหลืองจาง ปลายแผ่นปากสีม่วง ชมพูเข้ม
3.3 var. pallidilobus ทรงต้นพอๆกับพันธุ์ธรรมดา กลีบนอกกว้างกว่ากลีบคู่ในหูปากทั้งสองข้าง มีสีม่วงชมพู มี แต้มสีเหลืองอ่อน ปุ่มที่ปากสีเหลืองจาง
๏ Spathoglottis lobii ( เหลืองพิสมร ) เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ดอกมีสีเหลืองก้านช่อดอกยาวประมาณ๓๐-๕๐ ซม. ปากมีสี เหลืองโคนปากมีสีเหลืองอมส้มดูเด่นชัด ทิ้งใบในฤดูแล้ง
๏ Spathoglosttis pubescens ( ขาวพิสมร ) พันธุ์นี้พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดอกสีขาวกลีบคู่ในมีลักษณะใหญ่กว่ากลีบคู่นอก โคนปากมีปุ่มสีเหลืองเข้ม ปลายปากเว้าเล็กน้อย ทิ้งใบในช่วงฤดูแล้ง
๏ Spathoglottis kimballiana ( เหลืองฟิลิปปินส์ ) ดอกมีขนาดใหญ่สีเหลืองมีถิ่นกำเนิดในแถบบอร์เนียวก้านช่อดอกมีขนาดเล็ก ก้านช่อโค้ง ใบของหน่อที่แตกใหม่สีเขียว อมม่วง ใบแคบและยาวหัวมีขนาดเล็ก
๏ Spathoglottis parsonii ดอกขนาดใหญ่ กลีบนอกสีเหลืออ่อน ปลายกลีบประสีม่วง กลีบคู่ในมีสีม่วงปลายกลีบมีแต้มสีขาวเป็นวง ปากสีม่วงโคนปากสีเหลือง เมื่อดอกตูมมีสีอมม่วง
๏ Spathoglottis vanoverberghii ดอกสีเหลืองมีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ กลีบคู่ในกว้างกว่ากลีบคู่นอกมากดอกมีขนาดเล็ก มักทิ้งใบในฤดูแล้ง

ธาโปบาเนียร์ สปาธูลาตา


แวนดา สปาธูลาตา ( Vanda Spathulata ) หรือ ( Taprobanea spathulata ) สปาธูลาตา แต่เดิมได้รับให้จัดอยู่ในสกุลของ แวนดา (Vanda) ต่อมาได้มีการจัดกลุ่มใหม่ สปาธูลาตา จึงถูกย้าย ให้ไปอยู่ในสกุลของ ( Taprobanea ) จึงกลายเป็นชื่อ Taprobanea spathulata ครับ
      เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้มีการบันทึกเกี่ยวกับ สปาธูลาตา โดย อ. ระพี สาคริก ท่านได้กล่าวเรื่องราวของ สปาธูลาตา ไว้ว่า กล้วยไม้ชนิดนี้พบที่ประเทศ อินเดีย และ ศรีลังกา (ซีลอน) ครับ นอกจากนี้ ยังมีข้อความจาก อ.ระพี สาคริก ใน คอลัมป์ หอมกลิ่นกล้วยไม้ ของ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก โดยเนื้อหามีดังนี้
     " แวนดา สแปธูลาต้า (Vanda spathulata) เป็นแวนดาใบแบนที่มีรูปทรงต้นแปลกกว่าแวนดาใบแบนชนิดอื่น มีทรง ต้นคล้ายกล้วยไม้สกุล อะแรคนิส (Arachnis) และ เรแนนเธอร่า (Renanthera) ซึ่งมีทรงต้นสูงโปร่ง ช่วงระยะระหว่าง ใบต่อใบห่าง ปล้องยาว ใบสั้นกว่าแวนดาใบแบนอื่น และอาจมีประจุดสีม่วงประปรายตามริมและพื้นใบ พบตามธรรมชาติเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ในลักษณะภูมิประเทศโปร่ง มีแสงแดดมาก ช่อดอกยาว 20-40 ซม. แข็งและ ตั้ง มีดอกหลายดอก ออกจากส่วนที่ค่อนไปทางด้านปลายช่อ แม้ว่าจะมีดอกหลายดอก แต่ก็บานครั้งละ 1-3 ดอก โดยไล่จากดอกล่างๆ ขึ้นไปหาปลายยอดของช่อดอก มีขนาดโตประมาณ 3 ซม. สีเหลืองสะอาด เนื้อกลีบและสี ละเอียด
♠ ต้นพันธุ์สปาธูลาตาต้นเก่าแก่ที่สวนชิเนนทร มีขนาดกอใหญ่และให้ดอกทุกปี เลี้ยงแสงแดดจัดถึง ๑๐๐%
ลักษณะทั่วๆ ไปของดอก แผ่นและบานผึ่งผาย ปลายกลีบดอกมีลักษณะมนสวยงาม หูปากทั้งสองข้างมีขนาดเล็ก สีเหลือง มีแต้มสีน้ำตาลอมแดง โคนปากเป็นกรวยแคบลงไปจรดเดือยดอก เป็นแวนดาที่มีดอกงามเด่น " ปัจจุบัน สปาธูลาตา ในธรรมชาติลดน้อยลงจนน่าตกใจ ในประเทศไทยเราไม่มีการค้นพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้อีก ในขณะ ที่ประเทศอินเดียเริ่มให้ความสำคัญกับ สปาธูลาตา ถึงขนาดให้เป็นพันธุ์ไม้เฝ้าระวังโดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวด 

ฤดูกาลให้ดอกของ สปาธูลาตา สปาธูลาตา มักให้ดอกในช่วงท้ายปี ไปจนถึง ต้นปี ซึ่งจะอยู่ราว ๆ ธันวาคม - กุมภาพันธ์
การปลูกเลี้ยง สปาธูลาตา
สำหรับผมแล้ว หลังจากได้รู้จักกับเจ้า สปาธูลาตา ที่สวนของคุณชิเนนทร ทำให้ผมรู้สึกว่า สปาธูลาตา ไม่ได้เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงยากอย่างที่คิด สปาธูลาตา มีนิสัยที่ชอบแสงแดดมาก ๆ ที่สวนชิเนนทร ปลูกเลี้ยงโดยได้รับแสงแดดเต็มที่ 100% ตลอดวัน สปาธูลาตา สามารถเติบโตชูก้านแตกใบสวยงาม เมื่อลองนำ สปาธูลาตา ไปเลี้ยงในร่ม กลับพบว่าใบและต้นอวบสวยขึ้นแต่ทว่า สปาธูลาตา กลับ ไม่ยอมให้ดอก อาจเป็นเพราะว่า สปาธูลาตา เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงจัดก็เป็นได้การนำไปเลี้ยงในร่มจึงทำให้สปาธูลาตาไม่สามารถเก็บกักตุนอาหารไม่เพียงพอ ในธรรมชาติเช่นก็เช่นเดียวกัน ในตำรา กล้วยไม้ต่างแดนหลายเล่มบันทึกไว้ว่าพบสปาธูลาตาในบริเวณโล่งแจ้ง เติบโตได้ดีในเขตร้อน

ฟ้ามุ่ย ( vanda coerulea )

ฟ้ามุ่ย ( vanda coerulea )
     ฟ้ามุ่ย กล้วยไม้กลุ่มสกุล Vanda เป็นกล้วยไม้ที่มีชื่อก้องติดหูคู่กับคนไทยมานานแสนนาน เมื่อเอ่ยถึงเอื้อง ฟ้ามุ่ย แล้ว ไม่มีใครที่ไม่อยากครอบครอง ว่ากันว่าล้ำค่าที่สุด หายากที่สุด และได้รับการยอมรับว่าเป็นกล้วยไม้ที่สวยที่สุดชนิดหนึ่งของโลก นอกจากผู้คนที่ใช้ชีวิตกับหุบเขาแล้ว ชาวพื้นราบแทบไม่มีโอกาสได้ครอบครอง กล้วยไม้ชนิดนี้จึงเป็นอัญมณีสีฟ้าที่ล้ำค่าที่หลายคนต่างหมายปองและช่วงชิง
     นอกจากชื่อ ฟ้ามุ่ย แล้ว กล้วยไม้ชนิดนี้ยังรู้จักกันในอีกหลาย ๆ ชื่อ อาทิเช่น พอดอนญ่า และพอท็อก เป็นต้น กล้วยไม้ชนิดนี้พบได้ตามในป่าดิบเขาของภาคเหนือ กล้วยไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1000 เมตรเป็นต้นไป จึงไม่ง่ายเลยที่จะเลี้ยงกล้วยไม้ชนิดนี้ได้ในท้องที่ล่างภาคเหนือลงไป จังหวัดที่พบว่ามี ฟ้ามุ่ย ขึ้นอยู่นั้นได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ในสมัยหนึ่ง ฟ้ามุ่ย เป็นกล้วยไม้ที่เป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงขนาดที่ว่ามีการจ้างวานให้ชาวบ้านที่อาศัยบนภูเขานำ ฟ้ามุ่ย เก็บใส่
กระสอบเพื่อนำมาจำหน่ายในท้องตลาดให้กับนักเลี้ยงกล้วยไม้ ทำให้ ฟ้ามุ่ย ในภาคเหนือลดน้อยลงจนน่าตกใจและใกล้สูญพันธุ์ ไซ เตส ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ มี วัตถุประสงค์ที่จะรักษาพันธุ์พืชและสัตว์ป่า จึงขึ้นทะเบียน ฟ้ามุ่ย ไว้ในบัญชีพืชอนุรักษ์ บัญชี 1 ร่วมกับกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี พืชอนุรักษ์ บัญชี 1 หมายถึง ชนิดพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ห้ามทำการค้าระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด ทั้งการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านชนิด ทั้งนี้ต้นที่จะจำหน่ายไปต่างประเทศจะต้องเป็นต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์ เทียมเท่านั้น ทำให้การส่งออกกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นไปด้วยความลำบาก แต่ในปี พ.ศ. 2549 มีการประชุมไซเตส ที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร ได้ยื่นขอมติที่ประชุมให้เพิ่มถอนรายชื่อ ฟ้ามุ่ย ออกจาก บัญชี 1 เป็นบัญชี 2 แทน โดยมีเหตุผลว่า ฟ้ามุ่ย ได้มีการคัดพันธุ์และขยายพันธุ์โดยวิธีขยายพันธุ์ เทียม (ปั่นตา หรือเพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการ) แล้วนำมาปลูกเลี้ยงในประเทศกันอย่างแพร่หลาย จากการถอนออกจากบัญชี 1 มาอยู่บัญชี 2 ทำให้การส่งออก ฟ้ามุ่ย ไปต่างประเทศสะดวกกว่าแต่ก่อน
     ในปัจจุบัน เราอาจพบว่ามีกล้วยไม้มากมายที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกับ ฟ้ามุ่ย แวนดาสีฟ้าไปจนถึงสีน้ำเงินเข้มจัด ทั้งหมดเป็นลูกผสมของ ฟ้ามุ่ย โดยเป็นไปได้ว่าอาจจะมีเลือดของ ฟ้ามุ่ย อยู่ราว ๆ 25% - 50% และบางต้นก็คล้ายมากจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็น ฟ้ามุ่ย แท้ หรือ ฟ้ามุ่ย ลูกผสม โดยเฉพาะนักเลี้ยงกล้วยไม้ใหม่ที่อาจจะดูเผิน ๆ แล้วกล้วยไม้ที่มีสีฟ้าอาจสรุปได้ว่าเป็น ฟ้ามุ่ย เกือบทั้งหมดก็เป็นได้

ภาพ เอื้องฟ้ามุ่ย สีชมพู ต้นชิเนนทร ( Vanda coerulea "Pink Chinainthorn" )

ลักษณะของกล้วยไม้ชนิดนี้ : เอื้อง ฟ้ามุ่ย เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยหรือไม้อากาศ สามารถปรับตัวอย่างยอดเยี่ยม ขึ้นเกาะอยู่กับเปลือกไม้ของไม้ยืนต้นในป่า มีรากยึดเกาะเหนียวแน่นและอาศัยเพียงแร่ธาตุที่ชะมากับน้ำฝนผสานกับความชื้น ในอากาศ ก็สามารถรอดชีวิตผลิดอกให้ได้เห็นกันทุกปี ฤดู กาลออกดอกคือระหว่างเดือน กรกฎาคม ถึงธันวาคม โดยออกดอกเป็นช่อตั้งจากซอกใบ ช่อดอกยาว 20-40 ซ.ม. ช่อดอกโปร่ง เมื่อดอกบานเต็มที่มีขนาดกว้าง 4-7 ซ.ม. โดดเด่น ด้วยกลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปร่างมน สีฟ้าอ่อนหรือสีฟ้าอ่อนหรือสีฟ้าอมม่วงมีเสน่ห์ดึงดูดสายตา และน้อยนักที่จะพบสีสันอย่างเช่น สีชมพู หรือ สีขาวล้วน ซึ่งเป็นสีที่หายากที่สุด ทั่วกลีบมีลายเส้นร่างแหสีครามเข้มนิยมเรียกกันว่า “ลายตาสมุก” ส่วนกลีบปากมีสีม่วงน้ำเงินงามยิ่ง

การปลูกเลี้ยง ฟ้ามุ่ย 
ในการปลูกเลี้ยง ฟ้ามุ่ย ผมแนะนำให้หาพันธุ์แท้จากฟาร์มกล้วยไม้ เนื่องจาก ฟ้ามุ่ย ที่พัฒนาสายพันธุ์ในพื้นราบจะสามารถเลี้ยงได้ง่ายกว่าการนำกล้วยไม้ป่าที่อยู่บนดอยสูง ๆ มาเลี้ยงที่บ้าน และ กล้วยไม้ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์แล้ว ยังมีความสวยงามกว่า ฟ้ามุ่ย ที่มาจากป่าแท้ ๆ ด้วยครับ แต่การเลือกซื้อ ฟ้ามุ่ย ให้ได้ ฟ้ามุ่ย พันธุ์แท้ ไม่ใช่ลูกผสมนั้น ต้องพิจารณาและคำนึงให้ดีก่อนการตัดสินใจซื้อซึ่งอยู่ที่ดุลพิจนิจของผู้ซิ้อเองทั้งหมดครับ
กล้วยไม้ขวด : เมื่อได้ ฟ้ามุ่ย ขวดมาแล้ว ให้นำลูกไม้ขวดที่ได้รับมาวางในพื้นที่โรงเรือนที่เราจะปลูก โดยห้ามให้แดดส่องถึงเป็นอันขาด (หมายถึงห้ามถูกแสงแดดตรง ๆ นะครับ ไม่ใช่ว่าเอาไปเก็บในร่มซะมืดทึบ) ถ้าแดดส่องถึง อุณหภูมิในขวดจะสูงและทำให้ลูกไม้ในขวดตายครับ ที่นำมา วางก่อนก็เพื่อให้ลูกไม้ปรับตัวกับสภาพโรงเรือนก่อนนั่นเองครับ ส่วนระยะวันที่จะวางนั้นก็ราว ๆ 10 - 15 วัน หรือจะ 15 - 30 วันก็ได้ครับ แล้วแต่ความสะดวก หลังจากวางทิ้งไว้นานพอสมควรแล้ว เราก็สามารถเคาะออกขวดได้ตามปกติครับ
     ลูกไม้ที่ออกขวดแล้วนั้น ให้นำวางเรียงไว้ในตะกร้าพลาสติกก่อนครับ ตะกร้าพลาสติก 10-15 บาท ที่ขายในตลาดทั่วไปก็ใช้ได้ครับ โดยรดน้ำทุกเช้า แขวนผึ่งไว้แบบนี้จนกว่าจะมีรากใหม่ ประมาณ 1 เดือนได้ ซึ่งในระยะที่อยู่ในตะกร้านี้ ควรอยู่ใต้ซาแรนที่พลางแสงอย่างน้อย 70 - 80% ทั้งนี้เนื่องจากลูกไม้ยังไม่ต้องการแสงมาก ปุ๋ยและยาสามารถฉีดพ่นได้แต่ควรให้ครึ่งเดียวจากปกติ เช่นเดียวกับเด็กอ่อนที่ต้องให้อาหารอ่อน ๆ ก่อนครับ หลังจากรากใหม่เติบโตดีก็สามารถลงกระถางนิ้วได้เลย!

แวนดา ฟ้ามุ่ยเผือก ชิเนนทร Vanda coerulea var alba "Chinainthorn"

การขุน และการให้น้ำและปู่ยกับ ฟ้ามุ่ย
ฟ้ามุ่ย บางท่านถึงกับให้น้ำถึง 2 ครั้ง คือเช้าและเย็นและกล่าวกันว่าเป็นกล้วยไม้ที่ต้องการน้ำมาก แต่สำหรับผมแล้วรดน้ำเพียงแค่เวลาเดียวคือเช้าเท่านั้นเนื่องจากทางเหนืออากาศชื้นอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อยครับ หลักของการให้น้ำคือ ชื้นแต่ไม่แฉะ เราสามารถให้น้ำ ฟ้ามุ่ย ช่วงเวลาได้สองช่วงคือ เช้า หรือ เย็นก็ได้ ช่วงเช้าคือตั้งแต่เริ่มมีแสงไปจนถึง 8 โมงเช้า และ เย็นตั้งแต่หลัง 4 โมงเย็น หากรดน้ำในช่วงกลางวัน น้ำอาจจะเข้าไปขังใน กาบใบทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ตามมาได้นั่นเองครับ
     ปุ๋ย หากเป็นระยะไม้เล็ก สามารถให้ปุ๋ยสูตร เสมอ สลับกับตัวหลังสูงได้ ทุก ๆ สัปดาห์ ตัวหลังสูงจะเป็นสูตรที่ช่วงเร่งให้กล้วยไม้โตเร็วขึ้นครับ สูตรปุ๋ยนั้นไม่แน่นอนแล้วแต่ว่าจะประยุคต์ใช้ตามเหตุผลของแต่ละคนครับ ของคุณชิเนนทร ท่านจะสลับเสมอบ้าง กลางบ้าง หลังบ้าง มั่ว ๆ แล้วแต่ว่าอยากจะฉีดอะไรครับ แต่ผลที่ได้ กล้วยไม้ท่านก็สวยสุดยอดทุกต้นเลยครับ ซึ่งก็แปลกดีทั้ง ๆ ที่ไม่มีสูตรตายตัวแท้ ๆ !?

ฟ้ามุ่ย ไม่ออกดอก ทำไงดี ?
เมื่อพบว่า ฟ้ามุ่ย ไม่มีดอก ให้เริ่มพิจารณาดังนี้ครับ
1. เป็นกล้วยไม้จากป่าแท้ ๆ กล้วยไม้ที่ลงดอยนำมาปลูกพื้นราบ หลาย ๆ ต้นปรับตัวไม่ได้ก็จะไม่ให้ดอกครับ เผลอ ๆ เลี้ยงได้แต่ให้ดอกยาก
2. แสงไม่เพียงพอ ผมเคยเดินตามหมู่บ้านบนเขาพบว่าชาวบ้านเลี้ยง ฟ้ามุ่ย กันโดยที่ไม่มีซาแรนปิดบังกลับพบว่า ฟ้ามุ่ย ให้ดอกช่อยาวสวยมาก นั่นเป็นเพราะว่าแสงเป็นปัจจัย สำคัญให้การออกดอกครับ หากได้รับแสงมากกระบวนการปรุงอาหารของกล้วยไม้ก็จะดีและส่งผลไปถึงการออกดอก กรณีเลี้ยงพื้นราบควรเลี้ยงใต้ซาแรนพลางแสงราว ๆ 60-70% กล้วยไม้ที่ได้รับแสงเพียงพอ ไม่ว่าชนิดได ก็จะให้ดอกได้ง่ายครับ ลองดูนะครับ
3. ป่วย อาการป่วยที่พบบ่อยใน ฟ้ามุ่ย คือ ราเข้าใส้ ให้ระวังให้ดีเพราะไม่รู้ทำไม ราชอบเข้าใส้ ฟ้ามุ่ย มากครับ ป้องกันด้วยการหมั่นฉีดยาและทำให้โรงเรือนสะอาดเข้าไว้ครับ

เอื้องสามปอยขุนตาน ( Vanda denisoniana )

สามปอยขุนตาน ( Vanda denisoniana )
     สามปอยขุนตาน เป็นกล้วยไม้กลุ่มสกุลแวนดา (Vanda) ชื่อของ สามปอยขุนตาน นั้นได้มาจากแหล่งที่ค้นพบในครั้งแรก ๆ คือ เทือกเขาขุนตาน ปัจจุบันคือ อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน ตั้ง อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดลำปาง
ลักษณะทั่วไป สามปอยขุนตาน เป็นกล้วยไม้เจริญเติบโตทาง ยอด ใบมีลักษณะยาวเรียวเรียงกันเป็นรูปตัว V พบได้ตามเทือก เขาทางภาคเหนือ สามปอยขุนตาน ที่พบแต่ละแหล่งจะมีลักษณะ ของดอกที่แตกต่างกัน รวมไปถึงกลิ่นด้วย สามปอยขุนตาน ที่เล่า ลือเรื่องกลิ่นหอมแรง ว่ากันว่า ต้องมาจากภาคเหนือ อันนี้จะจริง หรือไม่ก็ต้องลองพิสูจน์กันดูครับ orchidtropical เราอยู่ภาคเหนือ อยู่แล้ว สามปอยขุนตาน ที่พัฒนามาจึงเป็นไม้เหนือทั้งหมดครับ
     ดอกของ สามปอยขุนตาน มีสีสันตั้งแต่สีขาวโพลน ไล่ผ่านสี เหลืองเปลือกกล้วย และเข้มขึ้นไปจนสุดที่สีส้มจัด ขนาดของดอก นั้นมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเหรียญ 5 ไปจนถึง ใหญ่กว่าเหรียญ 10
ฤดูให้ดอก อยู่ในช่วงเดือน กุมภาพันธุ์ ยาวนานได้จนถึง กรกฏาคม หรือ มากกว่า ดอกของ สามปอยขุนตาน นั้นบาน ยาวนานได้ถึงหนึ่งเดือนเลยทีเดียว ที่เด่นที่สุดของ สามปอยขุนตาน คือความหอมที่เย้ายวน กลิ่นของ สามปอยขุนตาน นั้น หอมราวกับอบเชย และกลิ่นจะแรงที่สุดคือช่วงตอนกลางคืน และตอนรุ่งสางเท่านั้น ในตอนกลางวัน สามปอยขุนตาน จะ มีกลิ่นเพียงเบา ๆ ต้องดมใกล้ ๆ แต่บางต้นก็มีกลิ่นหอมตอนกลางวันเช่นกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่มีเพียงบางต้นเท่านั้น

ลักษณะดอก สามปอยขุนตาน กลีบมีลักษระทรงรูปไข่ ประกอบด้วยกัน 5 กลีบ บริเวณปากดอกตรงปลายสุดแตกแยกออกมาเป็น 2 แฉก มีสีออกสีเหลือง อ่อนไปจนถึงสีขาว ลึกเข้าไปในปากดอกมีสันสองด้านเรียกว่า Side lope มี ลักษณะเป็นสีขาว เส้าเกสรเป็นสีขาว
     แต่ยังมี สามปอยขุนตาน อีกประเภทที่มีลักษณะเด่นกว่า สามปอยขุนตาน ทั่วไป เรียกกันในชื่อ สามปอยหลวง ลักษณะทั่วไปคล้าย สามปอยขุนตาน ทุก ประการ แต่เชื่อกันว่า กลีบดอกและปากดอกหนากว่า ขนาดดอกนั้นใหญ่กว่า บางต้นพื้นดอกมีลายสมุกชัด ปากมีสีเขียวโทนเข้ม ไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม กลิ่น หอมแรงกว่า สามปอยขุนตาน หายากกว่า และมีน้อยคนที่จะดูออกอย่างแท้จริง

จากซ้ายไปขวา สามปอยขุนตานสีเหลือง, สามปอยขุนตานส้ม, สามปอยหลวง

ผมได้เดินทางเสาะหาเรื่องข้อมูล สามปอยหลวง นานนับปี ซึ่งได้เก็บ รวบรวมภาพ สามปอยหลวง จากสถานที่ต่าง ๆ ที่หาได้ ประกอบกับ สัมภาษณ์บุคคลที่มีประสบการณ์และคลั่งไคร้สามปอยมายาวนาน สองท่าน ค้นหาเรื่องราวของ สามปอยหลวง ในหนังสือกล้วยไม้ หลากหลายเล่มประกอบกัน ซึ่งได้เขียนสรุปถึงความแตกต่างของ เจ้าเอื้อง สามปอยหลวง และ สามปอยขุนตาน ไว้ที่บทความเรื่อง สามปอย ซึ่งเก็บไว้ในหน้า นานาสาระกล้วยไม้ ครับ

การปลูกเลี้ยงสามปอยขุนตาน
สามปอยขุนตาน เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย ถึงแม้จะเป็นกล้วยไม้ทางภาคเหนือ แต่ก็เป็นกล้วยไม้ทนร้อนอีกตัวหนึ่งที่ สามารถปลูกเลี้ยงได้ในทุกภูมิภาคของไทยครับ โดยการปลูกเลี้ยงมีวิธีดังนี้
กรณีได้กล้วยไม้มาเป็นต้นใหญ่แบบถอนรากถอนโคน
- ให้นำกล้วยไม้ที่ได้ มาตัดแต่งรากที่แห้งออกให้หมด เหลือเพียงรากดีเท่านั้น หากปลูกลงในกระเช้าพลาสติก ให้พยายาม บรรจงร้อยรากที่มีอยู่ลงในช่องในรูกระเช้าภาชนะปลูก แล้วจับลำตั้งขึ้นให้ตรง ยึดโดยฟิวหรือเชือกฟางมัดติดกับลวด แขวน นำไปไว้ที่ร่มรำไรเสียก่อนเพื่อให้ สามปอยขุนตาน ได้ปรับตัวแตกรากแตกใบใหม่แข็งแรงดีเสียก่อน แล้วค่อย ๆ ย้ายไปยังที่ที่ปริมาณแสงมากขึ้น
- หากติดขอนไม้ ให้ใช้เชือกฟางผูกมัดกล้วยไม้กับขอนไม้ให้แน่น อย่าให้สั่นคลอน หากคลอนไปมา จะทำให้กล้วยไม้แตก รากใหม่ช้า อาจจะชงักการเจริญเติบโต หรือติดโรคได้ โดยเฉพาะ ราเข้าใส้ ซึ่งเป็นง่ายในสกุลแวนดา โดยเฉพาะตอน รากมีแผล เชื้อจะเข้าไปทางแผลบริเวณรากและลามเข้าต้นจนตายในทที่สุดได้ ป้องกันด้วยการฉีดยากันรา 1 ครั้งต่อ 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะฤดูฝน

กรณีกล้วยไม้เพาะพันธุ์จากฟาร์ม
- หากได้เป็นไม้ขวด ให้นำลูกไม้ปลูกลงในตะกร้า โดยห้ามรองพื้นด้วยสเฟกนั่มมอสหนา ๆ เด็ดขาด เพราะจะทำให้รากชื้น จนอาจเน่าได้ ให้นำตะกร้าแขวนไว้ในที่ที่มีลมพัดถ่ายเทสะดวก มีแสงเข้าถึงราว ๆ 60-70% หากได้รับแสงตลอดวันจะดี มาก (หมายถึงแสงที่ลอดผ่านใต้สแลน) หรือหากต้องการหนีบลงนิ้วก็ทำได้ภายหลังจากการผึ่งในตะกร้าแล้ว 1 - 2 เดือน หรือถ้าใจร้อนก็หนีบเลยก็ได้ครับ ลองดูวิธีการเลี้ยงไม้ในตะกร้า และการหนีบไม้นิ้วได้ที่ บทความการหนีบไม้นิ้ว
- กรณีเป็นไม้รุ่น สามารถปลูกเลี้ยงต่อได้เลยไม่มีปัญหาได ๆ ครับ หมั่นฉีดปุ๋ย ยา อาหารให้ สามปอยขุนตาน ของเราให้ สม่ำเสมอ ก็มีดอกให้ดูทุกปีอย่างแน่นอนครับ ต่างจากไม้ป่า ที่อาจจะชงักไปชั่วคราว หรืออาจให้ดอกปีเว้นปี หรือเผลอ ๆ น้อยใจไม่ให้ดอกเลยก็มี
***ข้อควรระวัง !! อย่าให้ราก สามปอยขุนตาน ยาวแตะพื้น หรือ ระวังอย่าให้รากมีรอยช้ำ หรือ ขาด เพราะ กล้วยไม้สกุล แวนดา ติดโรคราเข้าใส้ได้ง่ายมาก เมื่อรากมีแผล หรือช้ำ โดยเฉพาะโรงเรือนที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
****เครื่องปลูกไม้รุ่นนั้นแทบไม่จำเป็นต้องมี สามปอยขุนตาน เป็นแวนดาที่แตกรากเร็วมาก หากเลี้ยงเปลือยรากในกระเช้า รากจะแตกแขนงและยาวเรื่อย ๆ ดูสวยงามไปอีกแบบครับ หากใส่เครื่องปลูกต้องระวังให้ดี เครื่องปลูกที่เก่า มักเป็นตัวปัญ หาเรื่องโรคราเข้าใส้ตามมา ดังนั้น ไม่ใส่ น่าจะดีกว่าไหมครับ ?

สามปอยขุนตานไม่ออกดอกทำไงดี ?
- กรณีเลี้ยงเท่าไหร่ก็งามแค่ใบ ไม่มีดอกเสียที ให้ลองเปลี่ยนที่ โดยพยายามให้ได้รับแสงที่มากขึ้น ปัญหาของกล้วยไม้ที่ มีใบงาม จนเกินเหตุแตกหน่อแตกกอดีแต่ไม่มีดอกนั้นเป็นเพราะขาดแสงครับ ยิ่งได้รับแสงมาก กล้วยไม้ยิ่งให้ดอกง่าย แต่ไม่ได้หมายถึงให้เรานำกล้วยไม้ไปตากแดดทั้งวันนะครับ ให้ได้รับแสงอย่างน้อย ๆ ก็ตอนเช้า ตั้งแต่แสงแรกถึง 10.00- 11.00 น. หรือ หลัง 15.00 น. เป็นต้นไป หลีกเลี่ยงแสงแดดตรง ๆ ช่วงเวลา 11.00 น. - 15.00 น. เพราะแดดแรง ร้อนจัด อาจทำให้ใบกล้วยไม้ไหม้เกรียมถึงตายได้ ซาแรนที่ใช้ ในโรงเรือนจะอยู่ที่ 40-70 % โดยเลือกตามความเหมาะสมของแต่ ละพื้นที่ ถ้าร้อนมากก็มุงหนาหน่อย ถ้าไม่ร้อนก็มุงบางเอาแสงมากเข้าว่าครับ
*****ซาแรน 40% หมายถึง แสงผ่านได้ 60% ที่เหลือ 40% แสงผ่านไม่ได้ ปัญหาดอกฝ่อ ปลายยอดดอกฝ่อ
- เกิดขึ้นได้หากอากาศร้อนจัดครับ ยิ่งร้อนมาก โอกาสปลายยอดดอกฝ่อ ก็มีมากตามขึ้นไป ป้องกันด้วยการ มุงซาแรนให้สูงจากปลายยอดกล้วยไม้ ขึ้นไปราว ๆ 1 เมตร (ผมกะเอานะครับ ลองเอาตามเหมาะสมครับ ไม่สูง มากไป ไม่ต่ำเกินไป ) ร่มเงาของซาแรนจะช่วยป้องกันความร้อนจากแดด ได้ทำให้ยอดดอกไม่ฝ่อ
- อีกหนึ่งสาเหตุคือเพลี้ยไฟเข้าทำลายดอกครับ วิธีป้องกัน ลองอ่าน บทความเรื่อง เพลี้ยไฟ ดูนะครับ


1 ความคิดเห็น: